Menu Close

การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต (Stroke): 10 เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้

ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็นโรคอัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke) เพราะรู้ว่ารักษาไม่หายต้องเป็นภาระของคนในครอบครัว เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้คนส่วนใหญ่ยังคิดว่าโรคอัมพาตเป็นโรคเวรโรคกรรมไม่สามารถป้องกันได้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ใครเป็นแล้วก็เป็นไปตลอดชีวิต ท่านเข้าใจผิดแล้ว ปัจจุบันโรคอัมพาตสามารถรักษาให้หายได้ป้องกันได้ ต้องติดตาม 10 อย่างที่คุณต้องไม่พลาด/ต้องรู้เกี่ยวกับโรคอัมพาต คือ

  1. ทุก ๆ 4 นาทีมีคนไทยเป็นอัมพาต 1 คน และทุก ๆ 10 นาทีมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคอัมพาต
  2. ผู้ชายมีโอกาสเป็นอัมพาตได้บ่อยกว่าผู้หญิง ถ้าใครมีคุณพ่อคุณแม่เป็นโรคอัมพาต ก็มีโอกาสเป็นโรคอัมพาตสูงกว่าคนอื่น ๆ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คนโรคอ้วน คนที่ไม่ออกกำลังกาย ก็เป็นกลุ่มคนที่เป็นโรคอัมพาตได้บ่อย
  3. อาการโรคอัมพาตที่พบบ่อยคือ แขน ขาอ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย ปากเบี้ยว หลับ ตาไม่สนิท พูดไม่ชัด พูดลำบาก นึกคำพูดไม่ออก
  4. อาการผิดปกติของโรคอัมพาตจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันทีทันใด ไม่มีอาการเตือน พบบ่อยหลังตื่นนอนและขณะทำกิจกรรม
  5. ถ้ามีอาการผิดปกติข้างต้นให้รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ย้ำครับต้องไปโรงพยา บาล ห้ามไปพบแพทย์ที่คลินิก ให้ไปแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลทันที แล้วบอกพยาบาลที่สอบถามอาการผิดปกติว่าสงสัยเป็นอัมพาต
  6. แพทย์จะรีบให้การตรวจรักษาด้วย “ระบบทางด่วนโรคอัมพาต (Stroke fast track)” ท่านจะได้รับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจเลือด และสามารถบอกผลการตรวจได้ภายในเวลาไม่เกิน 40 นาที
  7. เมื่อแพทย์ทราบว่าผลการตรวจวินิจฉัยเข้าได้กับโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันและไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด จะแนะนำวิธีการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติตัดสินใจรับการรักษา ซึ่งผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด นี้มีโอกาสหายดี 50% ที่ระยะเวลา 3 เดือน
  8. การรักษาด้วยระบบ “ทางด่วนโรคอัมพาต” และได้รับยาละลายลิ่มเลือดมีค่ารักษาประมาณ 70,000 ถึง 100,000 บาท แต่คนไทยทุกคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว ไม่ว่าท่านจะใช้สิทธิ์การรักษาใด ๆ เพียงแค่ท่านรักษาในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งในปัจจุบันมากกว่า 70 จังหวัดของประเทศไทยสามารถให้การรักษาด้วยวิธีนี้ได้ โดยเฉพาะภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่อีก 13 แห่งสามารถให้การรักษาด้วยวิธีนี้ได้
  9. ปัจจุบันคนไทยยังเข้าถึงระบบการรักษา “ทางด่วนโรคอัมพาต” ประมาณ 15% เท่า นั้น ทำให้มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเพียง 3.81% เท่านั้น จึงทำให้มีผู้ป่วยโรคอัมพาตอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการรักษาตามที่ควรทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถ้าเกิดอาการผิด ปกติสงสัยเป็นโรคอัมพาต เพียงท่าน “โทร 1669” หรือหมายเลขโทรศัพท์ห้องฉุกเฉินโรงพยา บาลใกล้บ้าน ก็จะมีรถพยาบาลมารับตัวท่านนำส่งโรงพยาบาลด้วยความรวดเร็วและไม่เสียค่าใช้ จ่ายเช่นเดียวกัน
  10. ถ้าท่านไม่ต้องการเป็นโรคอัมพาตใช้หลัก “3 ต้อง” “4 ไม่” ได้แก่

“3 ต้อง” ได้แก่

  1. ต้องตรวจสุขภาพประจำปี
  2. ต้องรักษาโรคประจำตัว
  3. ต้องออกกำลังกาย และ

“4 ไม่” คือ

  1. ไม่สูบบุหรี่
  2. ไม่เครียด
  3. ไม่ดื่มเหล้า และ
  4. ไม่อ้วน

เท่านี้ท่านก็ห่างจากโรคอัมพาตได้ โปรดจำไว้ว่าถ้าท่านมีอาการผิดปกติสงสัยโรคอัมพาต ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที

“ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอดปลอดอัมพาต”

เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน การตรวจหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตเป็นโรคซึ่งคนส่วนใหญ่กลัวไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเองหรือคนในครอบครัว และพยายามหาทางไม่ให้เกิดโรคดังกล่าว ไม่ว่าการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การทานยาป้องกัน การควบคุมโรคประจำตัวที่มีอยู่ให้ดี เพื่อลดโอกาสการเกิดโรค นอกจากนี้ยังพยายามตรวจร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ทราบว่าตนเองมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตมากน้อยเพียงใด หรือไม่มีโอกาสเกิด เช่น การตรวจซีทีสแกนสมอง การตรวจเอมอาร์ไอสมอง ตรวจการแข็งตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย (ankle brachial index: ABI)
ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์การตรวจหลอดเลือดสมองว่าสามารถบอกได้ว่าใครมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตได้ จึงยอมเสียเงินหลายพันบาทถึงหลายหมื่นบาท เพื่อตรวจหลอดเลือดสมอง ลองติดตามเรื่องนี้ดูครับแล้วท่านจะเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจหลอดเลือดสมองเป็นอย่างดี

การตรวจหลอดเลือดสมองสามารถทำได้ 3 วิธี คือ
1. การตรวจจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมอง (doppler ultrasound)
2. การตรวจเอมอาร์ไอหลอดเลือดสมอง (magnetic resonance angiography)
3. การตรวจซีทีสแกนหลอดเลือดสมอง (computerized tomo-angiography)

การตรวจสามารถบอกได้ว่าหลอดเลือดสมองส่วนที่อยู่นอกสมอง บริเวณคอ (extracranial part) และส่วนในโพรงกะโหลกศีรษะหรือในสมอง (intracranial part) การตรวจทั้ง 3 วิธีนั้น บอกได้ว่าหลอดเลือดสมองแต่ละตำแหน่งมีภาวะตีบแคบหรือไม่ตีบแคบ ผนังหลอดเลือดหนาตัวแค่ไหน ชั้นต่าง ๆ ของผนังหลอดเลือดเป็นอย่างไร มีภาวะโป่งพองของผนังหลอดเลือดหรือไม่ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติทั่วไปในการตรวจรักษาผู้ป่วย แพทย์ก็ไม่ได้ส่งตรวจในคนทุกคนเพื่อคัดกรองว่าใครมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตหรือไม่ เนื่องจากปัจจัยการเกิดโรคหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความตีบแคบของหลอดเลือดสมองหรือการหนาตัวของผนังหลอดเลือดอย่างเดียว (การตรวจหลอดเลือดสมองไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่มีข้อมูลเพียงพอว่ามีความคุ้มค่าในการคัดกรองโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนทั่วไป และไม่อยู่ในแนวทางการตรวจสุขภาพประจำปี) แต่ยังขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตที่ควบคุมไม่ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ไขมันในเลือดสูง การเต้นของหัวใจไม่ปกติ การหลุดของลิ่มเลือดหัวใจหรือจากหลอดเลือดแดงไปอุดตันหลอดเลือดสมอง สูบบุหรี่ อ้วน ไม่ออกกำลังกาย อายุที่มากขึ้น เพศชาย ประวัติมีคนในครอบครัวเป็นอัมพาต

แพทย์จะส่งตรวจหลอดเลือดสมอง กรณีดังต่อไปนี้

1. ผู้ป่วยเกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้วต้องการหาสาเหตุที่แน่ชัด กรณีที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน หรือตำแหน่งของหลอดเลือดที่ผิดปกติ เพื่อหาทางรักษาหรือป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีก
2. ผู้ป่วยมีอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตชั่วคราว (TIA: transient ischemic attack) เพื่อตรวจหาสาเหตุและหาวิธีการรักษาจะได้ไม่เกิดซ้ำ
3. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มารับการตรวจหลอดเลือดหัวใจก็จะตรวจหลอดเลือดสมองร่วมด้วย
สิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือ การตรวจเช็คสุขภาพที่รวมการตรวจหลอดเลือดสมองด้วย เมื่อผลการตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อยก็เกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดโรคอัมพาต ซึ่งจริงแล้วการตรวจเช็คสุขภาพก็เพื่อความตะหนักว่าเรามีสุขภาพแข็งแรงปกติหรือไม่ การวิตกกังวลมากเกินไปแล้วพยายามหายาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาทาน โดยหวังว่าจะลดโอกาสการเกิดโรคอัมพาตหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่พบว่าการตรวจหลอดเลือดสมองในคนทั่วไปที่มารับการตรวจสุขภาพมีความคุ้มค่า ดังนั้นการตรวจหลอดเลือดสมองจึงควรตรวจเฉพาะเมื่อแพทย์ส่งตรวจตามข้อบ่งชี้เท่านั้น

คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน : การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

ปัจจุบันปัญหาทางสมองเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจากประชาชนมีอายุยืนยาวมากขึ้นและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น พอมีอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง ชา ชัก ผู้ป่วยก็ต้องการจะตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทุกคน ยิ่งปัจจุบันผู้ป่วยเกือบทุกคนใช้สิทธิการรักษา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ ข้าราชการ หรือประกันสังคม จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ถ้าแพทย์ส่งตรวจ ผู้ป่วยหรือญาติก็จะมาขอให้แพทย์ส่งตรวจ เพราะมีความกังวลใจว่าตนเองหรือพ่อ แม่นั้นจะมีโรคทางสมองซึ่งเข้าใจว่าถ้าได้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองก็จะทำให้รู้ได้ทั้งหมดว่าเป็นโรคอะไร แพทย์ก็จะเกิดการเผชิญหน้ากับผู้ป่วยและญาติว่าไม่จำเป็น หรือบางครั้งผู้ป่วยก็ไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ศูนย์เอกชน พอได้ผลมาก็เกิดความวิตกกังวล เช่น พบสมองฝ่อ หินปูนในสมอง เราลองมาดูว่าเมื่อใดต้องส่งตรวจ และเมื่อพบความผิดปกติ หมายความว่าอย่างไร ควรทำอะไรต่อไป

เมื่อใดต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

  1. อาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เป็นขึ้นมาทันที หรือรวดเร็ว แพทย์สงสัยเป็นโรคอัมพาตหรือความผิดปกติในสมองแบบนี้ ต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแน่นอน
  2. อาการปวดศีรษะร่วมกับมีภาวะความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง ได้แก่ อาเจียน ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน อาการปวดศีรษะรุนแรง อาการเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือผู้สูงอายุมีอาการปวดศีรษะครั้งแรกที่รุนแรง อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือดหรือผู้ป่วยโรคตับวาย ไตวาย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
  3. อาการปวดศีรษะ ไข้ ร่วมกับความรู้สึกตัวผิดปกติ สงสัยภาวะไข้สมองอักเสบ หรือฝีในสมอง
  4. ประสบอุบัติเหตุที่มีอาการรุนแรง เช่น สลบ จำเหตุการณ์ไม่ได้ มีน้ำใส ๆ ไหลทางจมูกหรือรูหู มีรอยคล้ำรอบ ๆ ตาหรือรอบ ๆ หู ผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือดประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองอย่างแน่นอน
  5. อาการที่สงสัยว่ามีรอยโรคในสมอง เช่น แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง ปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น ร่วมกับมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย มีอาการหลงลืมแบบรวดเร็ว หรือหลงลืมร่วมกับเดินเซ ปัสสาวะราด เป็นต้น

ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบความผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่

  • ความผิดปกติชัดเจนและสัมพันธ์กับอาการผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้องอก สมองขาดเลือดมาเลี้ยง เลือดออกในเนื้อสมอง หรือใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นดูรา เป็นต้น
  • ความผิดปกติที่ไม่สัมพันธ์กับอาการ พบได้ตามวัยหรือความผิดปกติที่พบได้ในคนปกติ เช่น หินปูนในสมอง สมองเหี่ยวเล็กน้อย ขนาดโพรงน้ำในสมองโตเล็กน้อย

ปัญหาที่พบบ่อยในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง คือ การที่ผู้ป่วยได้ทราบผลการตรวจโดยการอ่านจากผลการตรวจที่แพทย์รายงานผลไว้ แล้วไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองว่าผลรายงานนั้นหมายความว่าอย่างไร ตรงนี้เองที่ทำให้มีความเข้าใจผิดต่าง ๆ มากมาย เช่น brain atrophy (สมองเหี่ยว), lacunar infarction (สมองขาดเลือดขนาดเล็ก ๆ), calcification (หินปูน), sinusitis (ไซนัสอักเสบ)โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบสมองเหี่ยว ใจผู้ป่วยก็เหี่ยวไปด้วย ทั้งที่ตนเองไม่มีอาการใด ๆ เลย

ปัญหาที่พบรองลงไป คือ การที่ผู้ป่วยต้องการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง แต่แพทย์ผู้ดูแลไม่ส่งตรวจ เพราะพิจารณาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องตรวจ ไม่ตรงกับข้อบ่งชี้การส่งตรวจของแพทย์ จึงอาจเกิดปัญหาในการให้บริการตรวจรักษาได้ บางครั้งนำมาซึ่งการร้องเรียนได้ เพราะผู้ป่วยหรือญาติเกิดความเข้าใจผิดว่าแพทย์ให้การบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นเราควรเข้าใจว่าเมื่อใดจำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือไม่ ผู้ป่วยทุกท่านไม่ต้องกังวลว่าถ้าจำเป็นต้องตรวจแล้วแพทย์ไม่ส่งตรวจ เพราะแพทย์เองมีหน้าที่ให้การรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด และพยายามจะให้การรักษาอย่างเต็มที่ตามมาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเรามีอาการผิดปกติและไปปรึกษาแพทย์ แพทย์ก็จะพิจารณาว่า มีความจำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือไม่ การไปตรวจเช็คสุขภาพ ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเลย เพราะประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก ๆ หรือเกือบไม่มีเลยก็ได้ ถ้าพบความผิดปกติก็อย่าเพิ่งตกใจ แนะนำให้ท่านนำผลการตรวจนั้นไปปรึกษาแพทย์ต่ออีกครั้ง

คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน : การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองซ้ำ

เป็นที่ทราบกันดีว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองในการตรวจทางระบบประสาทที่สำคัญ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยรอยโรคในสมอง ปัจจุบันการตรวจดังกล่าวสามารถทำได้ง่ายเพราะมีเกือบทุกโรงพยาบาลจังหวัด และในทุกจังหวัดก็จะมีศูนย์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองของบริษัทเอกชนหรือของโรงพยาบาลเอกชนให้บริการ ราคาก็ไม่แพงเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่ราคาการตรวจครั้งละ 4000 บาท ปัจจุบันก็ราคาประมาณ 3000-4000 บาท ถ้าเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำค่าครองชีพอื่น ๆ ก็ถือว่าราคาพอไหว

ปัจจุบันเรียกว่าทุกคนเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น โดยเฉพาะมีอาการทางระบบประสาทก็จะต้องการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบผู้ป่วยจำนวนมากถือซองใส่ผลการตรวจมามากมาย บางคนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเป็นสิบ ๆ ครั้งก็มีก็งงว่าจะเอกซเรย์ซ้ำมากมายขนาดนั้นทำไมคำตอบที่ได้ก็คืออยากรู้ว่ารอยโรคนั้นหายไปหรือยัง ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าอาการก็ดีหายเป็นปกติแล้ว จะต้องตรวจซ้ำทำไมอีก ไม่เชื่ออาการของตนเองเหรอ ผู้ป่วยก็ตอบว่าอยากเห็นด้วยตาซ้ำอีกครั้งว่าผลการตรวจนั้นดีขึ้นจริง ๆ เหมือนกับอาการที่ดีขึ้น

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือแม้กระทั่งการตรวจเอมอาร์ไอก็ตาม การตรวจซ้ำเพื่อติดตามอาการของโรคนั้นก็มีความจำเป็นในกรณีที่โรคนั้น ๆ ต้องการประเมินผลการรักษาหรือต้องการทราบว่าการดำเนินโรคเป็นอย่างไร เช่น โรคมะเร็งสมองจำเป็นต้องตรวจซ้ำหลังผ่าตัด การฉายแสง/ฉายรังสี หรือให้เคมีบำบัด เพื่อประเมินว่าตอบสนองต่อการรักษาหรือจะมีการเป็นซ้ำหรือไม่ แต่ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ เช่น โรคปวดศีรษะหรือโรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องตรวจซ้ำเลย เพราะการประเมินผลการรักษาและธรรมชาติของโรคนั้น ใช้เพียงการประเมินอาการอย่างละเอียดก็เพียงพอต่อการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วทำไมผู้ป่วยถึงต้องการตรวจซ้ำ แล้วทำไมแพทย์จึงส่งตรวจซ้ำ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากใน 2 ประเด็นนี้ ผมเองเข้าใจว่าผู้ป่วยเองไม่มีความรู้ด้านนี้ เมื่อไม่มีความรู้ที่ดีจึงคิดว่าเมื่อการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองครั้งแรกสามารถบอกเขาได้ว่าเป็นโรคอะไร ได้รับการรักษาแล้วดีขึ้น ดังนั้นจึงอยากรู้ว่าโรคหายหรือยังก็น่าจะต้องมาตรวจซ้ำถึงจะรู้ได้ว่าโรคหายจริง ๆ หรือยังไม่หาย ซึ่งผมก็ว่าเป็นความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ก็ต้องมีหน้าที่ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบว่าความถูกต้องคืออะไร

ส่วนแพทย์เองนั้นผมเข้าใจว่าท่านคงทราบดีที่ไม่ต้องตรวจซ้ำ แต่ไม่สามารถอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจได้ เพราะด้วยเวลามีจำกัดในการตรวจผู้ป่วยแต่ละราย การร้องขอของผู้ป่วยและญาติซึ่งแพทย์เองไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจได้ว่าไม่จำเป็นเพราะอะไร และถ้าไม่ทำตามที่ผู้ป่วยและญาติร้องขอ ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการร้องเรียน หรือฟ้องร้องต่อไปอีก ซึ่งก็ทำให้แพทย์หงุดหงิด เสียเวลา เสียอารมณ์และอาจเสียอนาคตได้ในบางกรณี

ดังนั้นผมอยากทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติ ซึ่งอาจเป็นผู้อ่านบทความนี้ทราบว่า แพทย์ทุกคนจะให้การรักษาผู้ป่วยทุกรายเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิการักษาใด ๆ และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือเอมอาร์ไอสมองก็เป็นสิทธิ์ที่ครอบคลุมในผู้ป่วยทุกรายอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่แพทย์จะไม่ส่งตรวจถ้าจำเป็นจริง ๆ

Posted in โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดและสมอง

บทความที่เกี่ยวข้อง