การฟื้นฟู หรือ กายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัด
ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (ตอนที่ 1)
โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะซึ่งสมองขาดเลือดไปเลี้ยงโดยสาเหตุอาจเกิดจากการอุดตันหรือการแตกของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อระบบประสาทสั่งการ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อและอัมพาตของแขนขาเกิดขึ้นนอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบอื่นของร่างกาย เช่น การรับความรู้สึก ภาวะกลืนลำบากซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการสำลักและอาจเกิดภาวะปอดอักเสบตามมา การพูดและการสื่อความหมาย ความจำ และอารมณ์ เป็นต้น การฟื้นฟูสภาพมีเป้าหมายสำคัญคือให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับไปดำรงชีวิตได้ดังเดิมตามอัตภาพ ซึ่งการฟื้นฟูช่วงแรกในระยะเฉียบพลันก็เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การฝึกหายใจหรือการช่วยระบายเสมหะเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ การออกกำลังเพื่อป้องกันข้อติด แต่เมื่อผ่านระยะเฉียบพลันไปแล้วการฟื้นฟูสภาพจะเป็นการฝึกเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้สูงสุดโดยการฝึกกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวและการเคลื่อนย้าย เช่น ฝึกการเคลื่อนไหวบนเตียง การลุกนั่ง ยืน เดิน การทรงตัว การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังและความทนทานของกล้ามเนื้อ เป็นต้น สำหรับการฝึกด้านกิจกรรมบำบัดก็เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันเช่น การใส่เสื้อผ้า แต่งตัว การดูแลสุขอนามัยของตนเอง การรับประทานอาหาร การฝึกการใช้งานของมือ เป็นต้น ในส่วนของการฟื้นฟูด้านอื่น ๆ ก็จะขึ้นกับปัญหาที่พบในผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นการฟื้นฟูในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจึงต้องอาศัยทีมงานในการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขการพูด และบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้การฟื้นฟูได้ผลลัพธ์ที่ดีก็คือความร่วมมือของผู้ป่วยและญาติในการฝึกและการดูแลผู้ป่วยร่วมกันกับทีมที่ให้การรักษาเพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพและผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตและช่วยเหลือตนเองได้สูงสุดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังที่กล่าวมาในตอนต้น
การทำกายภาพบำบัด
ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (ตอนที่ 2)
การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร
คือ การช่วยเหลือและฝึกหัดผู้ป่วยให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน การทำกายภาพบำบัดในช่วงแรกก็เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหว เช่น การเคลื่อนไหวบนเตียงการเคลื่อนไหวข้อต่อต่าง ๆ การลุกนั่ง ฝึกหายใจ เป็นต้น ซึ่งจะต้องอาศัยญาติหรือผู้ดูแล มีส่วนร่วมในการช่วยทำ
วัตถุประสงค์
- เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ข้อติด กล้ามเนื้อหดเกร็ง อาการปวดตามข้อ อาการขาบวมมือบวม และอาการเวียนศีรษะจากการนอนนาน เป็นต้น
- เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดจนการเคลื่อนย้าย ทั้งนี้เพื่อจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกการทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง เช่น การเคลื่อนย้ายตัวบนเตียง การลุกนั่ง ยืน เดิน และการทรงตัว เพื่อให้สามารถฝึกกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ การสวมใส่เสื้อผ้า การแต่งตัว เป็นต้น
- เพื่อให้ผู้ป่วยเห็นความก้าวหน้าจากการฟื้นตัวของระบบประสาทและกำลังกล้ามเนื้อ ทำให้มีกำลังใจในการฝึกฟื้นฟูสภาพต่อไป
- เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำรงชีวิตตามปกติหรือประกอบอาชีพได้ตามอัตภาพของผู้ป่วยแต่ละราย
จะเริ่มต้นทำได้เมื่อไหร่ บ่อยแค่ไหน
- สามารถเริ่มทำกายภาพบำบัดได้ ตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาล โดยแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ประเมินว่าอาการอ่อนแรงหรืออาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพปกติ ไม่มีข้อห้ามใด ๆ ก็จะสามารถเริ่มทำกายภาพบำบัดได้ พร้อมทั้งแนะนำข้อควรระวังต่าง ๆ ให้ญาติและผู้ป่วยทราบ
- สามารถทำกายภาพบำบัดได้ทุกวัน วันละ 2-3 เวลา รอบละ 15-30 นาที
- เมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน และแข็งแรงมากขึ้น สามารถเพิ่มเวลาเป็น 30-45 นาทีต่อรอบ ทั้งนี้โดยดูตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก
ข้อห้ามในทำกายภาพบำบัด เมื่อ….
- มีไข้สูงเกิน 39 องศา หนาว ตัวสั่น
- หายใจลำบากหรือหอบ เหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก
- มีอาการซึม หรือมีอาการสับสนผิดปกติไปจากเดิม
- มีอาการปวดตามข้อ อย่างรุนแรง (ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบของข้อ ข้อเคลื่อนหลุด เป็นต้น)
- มีอาการปวดขา ขาบวมหรือแดงอย่างเห็นได้ชัดเจน (ซึ่งอาจจะเกิดจากหลอดเลือดดำอุดตัน)
- ความดันโลหิตสูงเกินไป (ตั้งแต่ 160/110 มิลลิเมตรปรอท) หรือ ต่ำเกินไป (ตั้งแต่ 90/60 มิลลิเมตรปรอท)
หมายเหตุ : หากมีอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
วิธีการทำกายภาพบำบัด
ในแอพลิเคชันนี้ มีการทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น โดยญาติหรือผู้ดูแลสามารถทำตามได้ และเมื่อผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น มีการฟื้นตัวทำให้มีกำลังกล้ามเนื้อมากขึ้น ท่านสามารถพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้าน เพื่อฝึกกายภาพบำบัด ซึ่งอาจจะมีความยากและซับซ้อนขึ้นตามความสามารถและการฟื้นตัวของระบบประสาทในผู้ป่วยแต่ละราย ต่อไป
วิธีการทำกายภาพบำบัด ตามตัวอย่างในคลิปวิดีโอ มีดังนี้
- การเคลื่อนไหวข้อต่อ แบบผู้อื่นทำให้ผู้ป่วย
- การจัดท่านอนและท่านั่ง ที่ถูกต้อง
- การฝึกเคลื่อนย้ายตัวบนเตียง
- การออกกำลังกล้ามเนื้อ แบบผู้ป่วยทำเอง
- การฝึกการทรงตัว ในท่านั่งและท่ายืน
- การพยุงผู้ป่วยเดินในระยะสั้นๆ