Menu Close

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร ?


อัมพาต: 270 นาทีชีวิต (Stroke Fast Track)

“หมอขอแสดงความเสียใจด้วยครับคุณพ่อของคุณเป็นอัมพาตครับ การรักษาคือ การทำกายภาพบำบัดและต้องรอดูว่า อาการจะค่อยๆดีขึ้นหรือไม่ น่าเสียดายที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลช้ากว่า 270 นาที จึงไม่สามารถให้การรักษาที่ดีที่สุดได้” เราคงรู้สึกผิดอย่างมากที่ไม่สามารถพาคุณพ่อมารักษาทันเวลา 270 นาทีตามที่หมอบอก เพราะเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าผู้ป่วยอัม พาตต้องรีบพามาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะในอดีตคนที่เป็นอัมพาตต้องเป็นไปตลอดชีวิต ไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้หายได้ และก็ไม่เคยมีใครบอกเราเลย แย่จังเลย ทำไมสิ่งนี้ต้องเกิดกับเราด้วย

เรื่องที่ผมเล่ามานี้ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน เพราะโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบบ่อยมาก   ทุก ๆ 4 นาที มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น และทุก ๆ 10 นาทีมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้ผู้ป่วยที่มาทัน 270 นาที ก็ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีที่มาช้าก็หมดโอกาส เหตุนี้เองที่แพทย์และทีมสุขภาพพยายามพัฒนาระบบการให้บริการ 270 นาทีชีวิต ลองติดตามดูครับว่า 270 นาทีชีวิต คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

270 นาทีชีวิตคืออะไร?

270 นาทีชีวิต คือ ระยะเวลาที่แพทย์ใช้ในการวางแผนการรักษาและตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดมาเลี้ยงหรือเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (Cerebral infarction หรือ Brain infarction) เนื่องจากการรักษาในปัจจุบันที่ได้ผลดีที่สุด คือ การฉีดยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drug) ซึ่งต้องรีบให้การรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด ถ้าช้าก็ต้องภายใน 270 นาที นับตั้งแต่นาทีแรกที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงเวลาที่แพทย์ฉีดยาละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้ากว่านี้ ก็มักไม่สามารถให้การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ผล จึงเรียกว่า “270 นาทีชีวิต หรือ ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track)”

ทำไมต้อง 270 นาที?

ที่มาของ 270 นาที คือ ธรรมชาติของเนื้อสมอง เมื่อเกิดการขาดเลือดมาเลี้ยงเนื้อสมองก็จะเริ่มตาย โดยเริ่มต้นจากเนื้อสมองส่วนตรงกลางก่อน และค่อยๆเพิ่มขนาดของเนื้อสมองตายออกสู่สมองส่วนอื่น ๆ ดังนั้น ในช่วงแรกๆของการขาดเลือดมาเลี้ยงจะมีเนื้อสมองตรงกลางที่ตาย เนื้อสมองบริเวณรอบนอกก็กำลังขาดเลือดมาเลี้ยงแต่ยังไม่ตายพร้อมที่จะกลับมาเป็นปกติได้ ถ้ามีเลือดไหลเข้าไปเลี้ยงเนื้อสมองที่กำลังจะตายนั้นได้ทันเวลา

จากการศึกษาทางพยาธิวิทยาของเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดมาเลี้ยงนั้น สามารถทนการขาดเลือดได้นาน 270 นาที หลังจากนั้นเนื้อสมองจะตายและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของ 270 นาทีชีวิต

มีอาการผิดปกติอะไรที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล?

อาการผิดปกติที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเป็นอาการของโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบด้วยอักษรย่อ คือ FAST ดังนี้

F : Facial palsy
A : Arm drip
S : Speech
T : Time

Facial palsy : คือ อาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงผู้ป่วยจะมีอาการปากเบี้ยวหลับตาไม่สนิท ยิงฟันและยิ้มไม่ได้ น้ำลายไหลออกจากมุมปากข้างที่ตก
Arm drip : คือ อาการอ่อนแรงของแขน และ/หรือ ขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายถ้าเป็นมาก คือ ขยับไม่ได้ ยกไม่ขึ้น ถ้าอ่อนแรงไม่มาก ยกขึ้นค้างได้ แต่ไม่นานก็ตกลง ไม่สามารถยกค้างได้
Speech : คือ การพูดลำบาก พูดติดๆ ขัดๆ พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก
Time : คือ รู้เวลาที่เกิดอาการผิดปกติ คือรู้ว่าเกิดเป็นเวลาเท่าไหร่ เกิดทันที

ดังนั้น ถ้ามีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้นโดยอาการเกิดทันที รู้เวลาที่เกิดอาการผิด ปกติเหล่านั้น ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้บ้าง?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ

  • อายุที่สูงขึ้น ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และ ยิ่งอายุที่มากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้มากขึ้น
  • ผู้ชาย มีโอกาสเกิดสูงกว่าผู้หญิง
  • ผู้มีประวัติครอบครัวว่าญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) เป็นโรคนี้ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้มากขึ้น
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจตีบ เป็นต้น
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน และ อ้วน
  • ผู้สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์และไม่ออกกำลังกาย

เมื่อมีอาการผิดปกติ FAST ควรไปโรงพยาบาลไหน?

ปัจจุบันระบบ 270 นาทีชีวิตนี้ ได้ถูกพัฒนาขึ้นในโรงพยาบาลประจำจังหวัดเกือบทุกโรงพยาบาลประจำจังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ๆในประเทศไทยด้วย ดังนั้น ถ้าท่านมีอาการผิดปกติ FAST ดังกล่าว ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้านท่านให้เร็วที่สุด และแจ้งกับพยาบาลหรือแพทย์ให้ชัดเจนว่าท่านมีอาการผิดปกติอย่างไร ถ้าโรงพยาบาลแห่งนั้นไม่มีระบบดังกล่าว แพทย์ก็จะรีบประสานงานไปยังโรงพยาบาลที่มีระบบบริการดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด

กรณีมีอาการ FAST แต่ไม่มีญาตินำส่งโรงพยาบาล ควรทำอย่างไร?

ปัจจุบัน ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่บริการในชุมชนคือ โทรศัพท์หมายเลข 1669 (เบอร์เดียว ทั่วประเทศไทย บริการตลอด 24 ชั่วโมง) จะมีรถพยาบาลฉุกเฉินไปรับผู้ป่วยถึงบ้านหรือถึงที่เกิดเหตุ และนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์ให้การรักษาอย่างไร?

เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ทีมแพทย์ พยาบาลจะรีบคัดกรองว่า อาการผิดปกติดังกล่าวของผู้ป่วยเข้าได้กับโรคอัมพาต/โรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ ถ้าใช่แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจเลือด และอธิบายให้ผู้ป่วย ญาติทราบผลการตรวจผลการวินิจฉัยเป็นระยะ ๆ ถ้าสุดท้ายผลการวินิจฉัยนั้นเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด (เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด) แพทย์ก็จะอธิบายให้ผู้ป่วย ญาติ ทราบเพื่อการตัดสินใจว่าจะรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดหรือไม่ ขั้นตอนการให้บริการทั้งหมดตั้งแต่ท่านมาถึงโรงพยาบาลจนกระ ทั่งได้รับการรักษาใช้เวลาอย่างรวดเร็วประมาณ 60-90 นาที

ข้อดีหรือผลการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเป็นอย่างไร?

ผลการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด จากการศึกษาระดับนานาชาติและเป็นมาตรฐาน พบ ว่า 50% ของผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดมีโอกาสหายเป็นปกติที่ 3 เดือน

ข้อเสียของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเป็นอย่างไร?

ข้อเสีย หรือผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากยาละลายลิ่มเลือด คือ ภาวะเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งในสมองประมาณ 6%

ผู้ป่วยกลุ่มไหนที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเลือดออกได้สูง?

ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากยาละลายลิ่มเลือด คือ ผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 80 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเบาหวานผู้ป่วยที่มีประวัติโรคอัมพาตมาก่อนและผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในช่วงเวลา 180-270 นาทีหลังเกิดอาการ

กรณีผู้ป่วยหายเป็นปกติ ต้องรับการรักษาระยะยาวหรือไม่?

ถึงแม้ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อป้อง กันการเกิดเป็นซ้ำ รวมทั้งเพื่อรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย ไปจนตลอดชีวิต

กรณีผู้ป่วยไม่หายจากการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดควรทำอย่างไร?

กรณีผู้ป่วยไม่หายจากการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยต้องรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ข้อติด แผลกดทับ และเพื่อการฟื้น ฟูสมรรถภาพของร่างกายให้ดีขึ้น ร่วมกับการรักษาควบคุมโรคประจำตัวต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัจจัยเสี่ยง ปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ถ้าใช้ FAST track โอกาสหายเป็นปกติมีไหม? ในผู้ป่วยกลุ่มใด?

กรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดมาเลี้ยงได้เข้าสู่ระบบ Stroke FAST track นั้นจากการศึกษาทั่วโลกและในประเทศไทยพบว่าโอกาสหายเป็นปกติที่ 3 เดือน ประมาณ 50% โดยเฉพาะกลุ่มที่อาการไม่รุนแรง คือ รอยโรค หรือ ขนาดของเนื้อสมองที่ขาดเลือดบริเวณไม่กว้างมาพบแพทย์เร็วที่สุดยิ่งเร็วยิ่งดี อายุไม่มากไม่มีโรคประจำตัวโดย เฉพาะเบาหวานและไม่เคยเป็นโรคอัมพาตมาก่อน

ผู้ป่วยกลุ่มใดที่ใช้ FAST track แล้ว ยังมีโอกาสเกิดอัมพาต?

ผู้ป่วยที่ใช้ FAST track แล้วอาการอาจไม่ดีขึ้น คือ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่รอยโรคมีขนาดใหญ่หรือเกิดรอยโรคในสมองส่วนอันตราย เช่น ก้านสมองผู้ที่มีโรคประจำตัวและควบคุมโรคนั้น ๆ ได้ไม่ดีและผู้ที่เคยเป็นอัมพาตมาก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทุกคนหลังจากรักษาด้วย Stroke FAST track แล้วไม่ว่าหายหรือไม่หายต้องรับการรักษาต่อระยะยาวด้วยทุกคน เพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ โดยการรักษาโรคหรือปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย และการรักษาด้วยยาต้านเกล็ดเลือดและ/หรือยาละลายลิ่มเลือดขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าว ผู้ป่วยที่รักษาไม่สม่ำเสมอไม่ปรับพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้า ไม่ออกกำลังกาย อ้วน ก็มีโอกาสเกิดอัมพาตซ้ำได้สูง

ผู้ป่วยกลุ่มใดที่ไม่จำเป็นต้องใช้ Stroke FAST track?

ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้น (F A S T) ควรต้องไปพบแพทย์ทุกคนเพราะทุกคนมีโอกาสเกิดอาการอัมพาตที่รุนแรงขึ้นได้เสมอถึงแม้เริ่มต้นจะมีอาการไม่รุนแรงก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยทุกคนต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ถ้าไปพบแพทย์แล้วประเมินว่าไม่ใช่โรคอัมพาต แพทย์ก็จะแนะนำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็วแบบนี้ ค่ารักษาแพงหรือไม่?

ค่ารักษาพยาบาลด้วยยาละลายลิ่มเลือด ค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000 บาท แต่ทุกคนที่เป็นคนไทยรักษาฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายในผู้ป่วยคนไทยทุกคนและทุกสิทธิการรักษา

สรุป

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพาตไม่ใช่โรคเวรโรคกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (เนื่องจากผู้ป่วยและคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าโรคอัมพาตเป็นโรคที่แก้ไขไม่ได้ และคิดว่าเป็นกรรมเก่าจึงไม่ยอมแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และไม่ยอมไปรักษ เพราะในอดีตโรคอัมพาตรักษาไม่หาย) สามารถป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงได้โดยการรักษาควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม (เช่น กินแต่อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอระมัดระวังไม่ให้เกิดโรคอ้วน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา) และถ้าเกิดอาการผิดปกติดังกล่าวในตอนต้น (FAST) ให้รีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดจำไว้ให้ดีครับ 270 นาทีชีวิตและโทรศัพท์เบอร์ 1669

Posted in โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดและสมอง

บทความที่เกี่ยวข้อง