ผลแทรกซ้อนระยะสั้นและระยะยาวคืออะไรบ้าง?
ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงระยะสั้น (อาการมักหายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน) และระยะยาว (อาการมักคงอยู่ตลอดไป) ของโรคไข้สมองอักเสบได้แก่
ก. กรณีที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดีและอาการเริ่มต้นไม่มาก มารับการรักษาตั้งแต่ต้นจะมีภาวะแทรกซ้อน/ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงไม่มากโดยอาจเกิดในระยะสั้น ๆ หรือในระยะยาวตลอดไปก็ได้เช่น อาจมีเพียงความจำที่บกพร่องเพียงเล็กน้อย
ข. กรณีตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีหรือมารักษาล่าช้า ผู้ป่วยจะมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ตลอดไปเช่น ภาวะชักที่รักษายาก แขนขาอ่อนแรง พฤติกรรมผิดปกติ บุคลิกภาพผิดปกติ
ค. กรณีที่อาการรุนแรงที่ผู้ป่วยนอนติดเตียงก็จะมีภาวะแทรกซ้อนมากมายเช่น แผลกดทับ ปอดติดเชื้อ/ปอดอักเสบเป็น ๆหาย ๆ ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะเป็น ๆ หาย ๆ ข้อยึดติด กล้ามเนื้อเกร็งเป็นตะคริวเสมอ
ทั้งนี้ กรณีข้อ ข และ ค ผู้ป่วยอาจกลายเป็นผู้พิการไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ต้องมีผู้ช่วยดูแลตลอดไป
การรักษาทางกายภาพบำบัดจำเป็นหรือไม่?
การรักษาโรคไข้สมองอักเสบ นอกจากการรักษาในภาวะเฉียบพลันในช่วงแรกของการนอนรักษาในโรงพยาบาลที่เป็นการรักษาทางยาร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไปแล้ว การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อติด จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นข้างต้น ในหัวข้อผลแทรกซ้อน
การดูแลที่บ้านต้องทำอย่างไร?
ในผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบ เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว การดูแลตนเองต่อที่บ้านในกรณีผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ผู้ดูแลผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะการดูแลระยะยาวนั้นมีวัตถุประสงค์หลักคือ การฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยให้กลับมาช่วยตนเองได้ตามควร และการป้องกันไม่ให้มีภาวะแทรกซ้อน (ดังกล่าวในหัวข้อ ผลแทรกซ้อน) ดังนั้นผู้ดูแลต้องมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้ดูแลจะต้องได้รับการสอนและติดต่อกับทีมสหสาขาวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด อาสาสมัคร เป็นต้น) ตลอดไป
ไข้สมองอักเสบป้องกันได้หรือไม่?
ไข้สมองอักเสบสามารถป้องกันได้ในบางกรณีเช่น
- การได้รับวัคซีน (เป็นวัคซีนทางเลือกที่ต้องปรึกษาแพทย์เป็นกรณีไป) เพื่อป้องกันไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส Japanese B encephalitis (JE)/ไข้สมองอักเสบเจอี
- การดูแลตนเองให้สุขภาพแข็งแรงป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ได้แก่ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคต่าง ๆ ถ้าจำเป็นก็ต้องหาวิธีป้องกันที่เหมาะสมตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขและของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง