ยาไมเกรน ยาต้านไมเกรน (Antimigraine drugs)
พรลภัส บุญสอนเภสัชกร
ยาต้านไมเกรนหมายถึงยาอะไร?
ยาต้านไมเกรน หรือ ยาไมเกรน (Antimigraine drugs หรือ Antimigraine medication) หมายถึง ยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉับพลัน หรือใช้เพื่อป้องกันอาการ ลดความถี่ และลดความรุนแรงของการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน
ยาต้านไมเกรนแบ่งเป็นกี่ประเภท?
ตามกลุ่มฤทธิ์ยาได้ดังนี้
ก. ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉันพลัน/เฉียบพลัน (Drugs for acute migraine attack): ได้แก่
- ยาแก้ปวด/ ยาลดไข้ ทั่วไป (Simple analgesics): ได้แก่ยา พาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออะเซตามิโนเฟ่น (Acetaminophen)
- ยาแก้ปวดและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs): เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen), นาพร็อกเซน (Naproxen), คีโตโรแลค (Ketorolac), ไดโคฟีแนค (Diclofenac), อินโดเมทาซิน (Indomethacin), เซเลค็อกสิบ (Celecoxib), อีโทริค็อกสิบ (Etoricoxib)
- ยาแก้ปวดชนิดผสม (Combination analgesics): ได้แก่ ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอล แอสไพริน และคาเฟอีน/กาเฟอีน (Paracetamol + Aspirin + Caffeine), ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอลและฟีโนบาร์บิทาล (Paracetamol + Phenobarbital)
- ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids): เช่นยา มอร์ฟีน (Morphine), ทรามา ดอล (Tramadol), โคดีอีน (Codeine)
- ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนกลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids): ได้แก่ เออร์กอตามีน (Ergotamine) ซึ่งมักผสมกับยาอื่น เช่น คาเฟอีน (Caffeine), ไดไฮโดรเออร์กอตามีน (Dihydroergotamine)
- ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนกลุ่มทริปแทน (Triptans): เช่นยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan), นาราทริปแทน (Naratriptan), โซลมิทริปแทน (Zolmitriptan)
ข. ยาป้องกันการเกิดอาการไมเกรน (Drugs used in the prophylaxis of migraine): ได้แก่
- ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับเบต้า (Beta blockers): เช่นยา โพรพาโนลอล(Propranolol), อะทีโนลอล (Atenolol), เมโทโพลอล (Metoprolol), นาโดลอล (Nadolol), ทิโมลอล (Timolol), ไบโซโพรลอล (Bisoprolol)
- ยาแก้/ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants, TCA): เช่นยา อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline), นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline), อิมิพรามีน (Imipramine)
- ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องแคลเซียม (Calcium channel blockers): เช่นยา เวอราปามิล (Verapamil), ดิลไทอะเซม (Diltiazem)
- ยากันชัก (Antiepileptic drugs): เช่นยา กาบาเพนติน (Gabapentin), วาลโปรเอท (Valproate)/ หรือกรดวาลโปรอิก (Valproic acid), โทพิราเมท (Topiramate)
- ยาต้านตัวรับซีโรโทนิน (Serotonin antagonist): เช่น เมทิเซอร์ไจด์ (Methysergide), ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine)
- โบทูไลนุม ทอกซิน ชนิดเอ(Botulinum Toxin type A, BOTOX)
ค. ยารักษาเสริมสำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรน(Adjuvant therapy for migraine): ได้แก่
ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน (Antiemetic drugs): เช่นยา ดอมเพอริโดน (Domperidone), เมโทโคลพาไมด์ (Metoclopramide), โปรคลอเพอราซีน (Prochlorperazine), คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine)
ยาต้านไมเกรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาแคปซูล (Capsule)
- ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
- ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
- ยาเหน็บทวารหนัก (Suppositories)
- ยาน้ำใส ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
- ยาพ่นจมูก (Nasal spray)
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่าง ๆ ได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
มีข้อบ่งใช้ยาต้านไมเกรนอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยาต้านไมเกรน เช่น
- ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉันพลัน: ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน ทั้งชนิดที่มีและไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าก่อนการปวดศีรษะ(Aura)
- ยาป้องกันการเกิดอาการไมเกรน: ซึ่งนอกจากใช้สำหรับป้องกันแล้ว ยังสามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้ของกลุ่มยาบรรเทาอาการปวดในข้อ1 และ/หรือในผู้ป่วยที่ทนอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนบางชนิดไม่ได้ หรือในผู้ที่อาการปวดศีรษะไมเกรนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
- ยาที่ใช้รักษาเสริม: โดยใช้บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการปวดศีรษะ ไมเกรน
มีข้อห้ามใช้ยาต้านไมเกรนอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาต้านไมเกรน เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้น ๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity) ต่อยานั้น ๆ และห้ามใช้ยา Sumatriptan และ Naratriptan ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Sulphonamides เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาชนิดรุนแรงได้
- ห้ามใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids และยากลุ่ม Triptans ในผู้ที่ป่วยไมเกรนที่ป่วยร่วมด้วยกับโรคที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดส่วนปลาย, โรคหลอดเลือดอุดตัน, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูงแบบที่ยังควบคุมไม่ได้, มีภาวะช็อก, ตับมีการทำงานบกพร่อง, ไตวายอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids ร่วมกับยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ (Enzyme Inhibitor) เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Macrolides, ยาต้าน HIV กลุ่ม Protease Inhibitors, ยาต้านเชื้อรากลุ่ม Azoles เนื่องจากยาเหล่านี้จะเพิ่มระดับยาของกลุ่ม Ergot alkaloids ในเลือดทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยากลุ่ม Ergot alkaloids ได้สูงขึ้น
- ห้ามใช้ยากลุ่มที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เช่น ยากลุ่ม Triptans, ยากลุ่ม Ergot alkaloids หรืออนุพันธ์ เช่น Methysergide, Serotonin receptor agonists, นิโคติน/Nicotine (ทั้งจากยาและการสูบบุหรี่) ร่วมกัน เพราะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเกิดการหดตัวนานขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายแย่ลง หลอดเลือดแดงส่วนปลาย(ส่วนแขนขา)ขาดเลือด (ผู้ป่วยจะมีอาการมือชา เท้าชา) และทำให้เกิดเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ตายจากขาดเลือด (Gangrene)
- ห้ามใช้ยากลุ่ม Triptans ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors, MAOIs) เพราะอาจทำให้ระดับยากลุ่ม Triptans ในเลือดเพิ่มขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้นหากต้องการใช้ยาร่วมกัน ต้องใช้ยากลุ่ม Triptans หลังจากหยุดยากลุ่ม MAOIs แล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไมเกรนอย่างไร?
- ไม่ควรใช้ยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนในการป้องกันอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไมเกรนสัมพันธ์กับรอบเดือน/รอบประจำเดือน ซึ่งสามารถใช้ยานี้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และใช้ต่อเนื่องจนถึงวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน
- ไม่ควรรับประทานยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อย ๆ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจเกิดภาวะถอนยาเมื่อหยุดยาส่งผลให้กลับมามีอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างรุนแรง (Rebound headache) หากมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มที่ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย
- ยากลุ่ม Ergot alkaloids ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน จึงสามารถใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการดังกล่าวได้
- ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Triptans ร่วมกับยารักษา/ยาต้านโรคซึมเศร้ากลุ่ม Selective serotonin re-uptake inhibitor (SSRIs) หรือกลุ่ม Serotonin noradrenaline re-uptake inhibitors (SNRIs) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ผู้ป่วยและญาติควรเฝ้าสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วย เช่น ภาวะความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ(เช่น กระตุกผิดปกติ) หากมีอาการรุนแรง ควรหยุดยานั้น ๆ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
การใช้ยาต้านไมเกรนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- เมื่อหญิงตั้งครรภ์มีอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉันพลันสามารถเริ่มใช้ยาแก้ปวดต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ Paracetamol, ยากลุ่ม NSIADs รุ่นเก่าที่มีการใช้มานานแล้ว เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Naproxen และ Aspirin แต่ห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ (ตั้งครรภ์เดือนที่ 7-9) เพราะยาจะออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของมดลูก จึงทำให้คลอดช้าและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดไหลไม่หยุดหลังคลอด(ภาวะตกเลือดหลังคลอด) และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids เพราะยานี้จะกดการหายใจและทำให้เกิดการติดยานี้ในทารกแรกเกิด
- หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการปวดศีรษะไมเกรนรุนแรง สามารถใช้ยาแก้ปวดไมเกรนกลุ่ม Triptans ได้ เช่น Sumatriptan, Zolmitriptan แต่ห้ามใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids ในหญิงตั้งครรภ์ตลอดอายุครรภ์ เพราะยานี้ เร่งการบีบตัวของมดลูก (Oxytoxic drug) และมีผลต่อการหดตัวของหลอดเลือดของรกและของสายสะดือของทารกในครรภ์ส่งผลให้ทารกขาดเลือดได้
- ยาป้องกันการเกิดไมเกรนที่สามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ ได้แก่ ยากลุ่ม Beta blockers (เช่น Metoprolol, Propranolol, Bisoprolol) และยาต้านเศร้า/ยาโรคซึมเศร้า(เช่น Amitriptyline, Nortriptyline) แต่ไม่ควรใช้ยากันชักในหญิงตั้ง ครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ยารักษาเสริมเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการปวดศีรษะไมเกรนที่ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ คือยา Metoclopramide โดยแพทย์จะเลือกใช้เป็นยาอันดับแรก
การใช้ยาต้านไมเกรนในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- เมื่อเด็กมีอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบฉันพลัน สามารถเริ่มใช้ยาแก้ปวดต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ยา Paracetamol, ยากลุ่ม NSIADs เช่นยา Ketorolac, Naproxen, Indomethacin ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาเพียงพอในการใช้กับเด็ก และสามารถใช้ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนกลุ่ม Triptans หรือ Dihydroergotamine ได้ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- ยาป้องกันการเกิดไมเกรนที่ใช้ได้ผลดีในเด็ก คือ ยากลุ่ม Beta blockers และกลุ่ม Serotonin antagonist
- ยารักษาเสริมเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการปวดศีรษะไมเกรนที่ควรเลือกใช้ในเด็ก ได้แก่ยา Prochlorperazine, Metoclopramide
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านไมเกรนเป็นอย่างไร?
มีอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาต้านไมเกรน ดังนี้ เช่น
- ยา Paracetamol: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ง่วงซึม สับสน การทำงานของตับผิดปกติ
- ยากลุ่ม NSAIDs: ทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องเสีย เกิดแผลในทางเดินอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร ยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือดส่งผลทำให้เลือดหยุดไหลช้า บวมน้ำ ไตวาย
- ยาระงับปวด/ยาแก้ปวด Opioids: ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม มึนงง ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ ติดยา กดการหายใจ ประสาทหลอน
- ยากลุ่ม Ergot alkaloids: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ และอาการไม่พึงประสงค์จากยาชนิดรุนแรง ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายขาดเลือด (Ergotism) ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้าซึ่งนำไปสู่การเกิดเนื้อตาย ดังนั้นหากเกิดอาการดังกล่าวควรหยุดยานี้และรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ยากลุ่ม Triptans: ทำให้เกิดอาการ มึนงง ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้า อ่อนแรง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดโคโรนารี (Coronary artery) ที่หัวใจหดตัว
- ยาแก้/ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก: ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง เวียนศีรษะ สับสน นอนไม่หลับ ประสาทหลอน ปากแห้ง ตาพร่า ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
- ยากลุ่ม Beta blockers: ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำโดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยได้รับยานี้ครั้งแรก หรือมีการปรับขนาดยาเพิ่ม อาการอื่น ๆ ได้แก่ หัวใจเต้นช้า มึนงง เหนื่อยล้า อ่อนแรง ภาวะบวมน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ยากลุ่ม Calcium channel blockers: ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ มีอาการบวมที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ข้อเท้าหรือเท้า การมองเห็นหรือการได้ยินเปลี่ยนแปลงไป
- ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน: ทำให้ ง่วงซึม สับสน ความดันโลหิตต่ำ เกิดความผิดปกติที่สมองชนิดเอ็กทาร์พิรามิดัล/ชนิดเกี่ยวกับการเคลื่นไหวของกล้ามเนื้อ (Extrapyramidal side effects) เช่น ภาวะลูกตาจ้องตรึง เดินตัวแข็ง กล้ามเนื้อแข็ง มือสั่น เป็นต้น
- ยากันชัก: ได้แก่ ยา Gabapentin ทำให้ง่วงนอน ง่วงซึม เวียนศีรษะ น้ำหนักตัวเพิ่ม, ยา Valproate ทำให้ มือสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ผมร่วง น้ำหนักตัวเพิ่ม ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ, ยาTopiramate ทำให้มึนงง เดินเซ ความคิดช้า การพูดผิดปกติเช่น ทำให้คนไข้นึกคำไม่ออกหรือใช้คำผิด น้ำหนักตัวลด นิ่วในไต ต้อหิน เหงื่อออกน้อย
- ยากลุ่ม Serotonin antagonist: ทำให้รู้สึกไม่สบาย ง่วงซึม มึนงง ปวดท้อง นอกจากนี้ยา Cyproheptadine ยังทำให้เกิดอาการ ปากแห้ง ตาพร่า ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก
- ยา Botulinum Toxin type A: ทำให้เกิดอาการ ปวด กดเจ็บ แสบร้อนบริเวณที่ฉีดยา กลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงกับที่ฉีดยาเป็นอัมพาตเมื่อฉีดยาผิดตำแหน่ง
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านไมเกรน) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่าง ๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน