พาร์กินสัน: ตอนที่ 1 มารู้จักโรคพาร์กินสันดีกว่า
โรคพาร์กินสัน คืออะไร ท่าทางจะน่ากลัวพอมือสั่น ใคร ๆ ทำไมต้องกลัว สงสัยจะรักษาไม่หายเป็นแล้วตายหรือเปล่า ผ่าตัดรักษาหายหรือไม่คำถามมีมากมาย
โรคพาร์กินสัน คือ โรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมองเฉพาะส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทโดปามีน/Dopamine (substantia nigra) ทำให้ขาดสารสื่อประสาทโดปามีนเมื่อร่างกายขาดสารสื่อประสาทชนิดนี้ก็จะทำให้ร่างกายมีปัญหาในการเคลื่อนไหวเป็นหลัก คือ จะมีอาการมือสั่น เมื่อวางไว้เฉย ๆ พอยกขึ้นก็ดีขึ้นแต่ถ้ามีกิจกรรมได้ระยะเวลาหนึ่งก็จะเริ่มมีอาการมือสั่นอีกครั้ง (resting and emerging tremor) โดยอาการนั้นจะเริ่มเป็นที่มือข้างเดียวก่อน มีเพียงส่วนน้อยมาก ๆ ที่เริ่มมีอาการที่เท้า
อาการที่สองคือ อาการทำอะไรช้าลง เคลื่อนไหวช้าลง (bradykinesia) เดินได้ช้าจะเริ่มทำกิจกรรมอะไรก็ช้า ไม่ว่าจะเดิน จะพูด จะเขียน หยิบจับอะไรก็ช้าไม่ถนัด ทำให้เกิดความสับสนว่าตนเองอ่อนแรงเป็นอัมพาตหรือไม่
อาการที่สาม คือ อาการเคลื่อนไหวจะไม่คล่องแคล่ว ช้า สั่นและแข็ง (cogwheel rigidity) เหมือนกับการเคลื่อนไหวของล้อเกวียนไปบนถนนที่ไม่เรียบหรือเปรียบเสมือนการไขลานนาฬิกา จะรู้สึกว่ามันมีการหมุนและมีแรงต้านสะดุดไม่เรียบเป็นระยะ ๆ
อาการที่สี่ คือ อาการล้มง่าย มีปัญหาการทรงตัว (postural instability) คนไข้จะล้มง่าย เดินลำบาก เริ่มเดินลำบากมากเหมือนมีแม่เหล็กดูดเท้าไว้ (magnetic gait) แต่พอเดินไปแล้วก็จะหยุดลำบากหน้าจะทิ่มไปข้างหน้า หยุดลำบาก
ลักษณะสำคัญในโรคพาร์กินสัน คือ อาการจะค่อย ๆ เริ่มเป็น ค่อย ๆ มีอาการที่ละข้างของร่างกายถึงแม้โรคนี้จะมีอาการนานเท่าใดก็จะเป็นรุนแรงไม่เท่ากันทั้งสองข้าง และก็จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุตรงนี้เองที่แพทย์ใช้เป็นหลักในการให้การวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน คือ ค่อย ๆ เป็นพบในผู้สูงอายุเป็นไม่เท่ากันทั้งสองข้าง ดังนั้นถ้าใครมีอาการข้างต้นแต่เป็นเร็ว เป็นพร้อมกันสองข้างก็จะช่วยให้แพทย์บอกได้ง่ายขึ้นว่าไม่น่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน
ดังนั้นอย่าตกใจถ้าเรามีอาการสั่นก็ลองดูว่ามีอาการสั่นแบบโรคพาร์กินสันหรือไม่ แนะนำให้ลองประเมินตนเองก็ได้ว่ามือสั่นแบบไหน