โรคพาร์กินสัน รักษาแบบไหนดี
โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่รักษาได้หรือไม่ รักษาหายหรือไม่ ต้องผ่าตัดหรือไม่ คำถามเหล่านี้ได้รับการสอบถามจากผู้ป่วยและญาติ ลองมาดูว่าโรคพาร์กินสันรักษาอย่างไร
การรักษาโรคพาร์กินสันนั้นมีการรักษาประกอบด้วย
- การรักษาด้วยยา
- การรักษาด้วยการผ่าตัด
- การรักษาด้วยการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม
การรักษาด้วยยาประกอบด้วยยาหลายชนิด ผมขอแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มยารักษาอาการระบบประสาทของโรคพาร์กินสันโดยตรง
- กลุ่มยารักษาอาการระบบอื่น ๆ ของโรคพาร์กินสัน
- กลุ่มยาที่ชะลอการเป็นมากของโรค
- กลุ่มยารักษาอาการระบบประสาทของโรคพาร์กินสันโดยตรง ได้แก่ ยาเพิ่มระดับสารสื่อประสาทโดปามีน เช่น ลีโวโดปา (levodopa) โดปามีนอะโกนิทส์ (dopamine agonist) เบ็นเฮกซอล (benzhexol)
- กลุ่มยารักษาอาการระบบอื่น ๆ ของโรคพาร์กินสัน ได้แก่ ยาปรับอารมณ์ ยาต้านเศร้า ยานอนหลับ ยาแก้ท้องผูก ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ เป็นต้น
- กลุ่มยาชะลอการเป็นมากของโรคยากลุ่มนี้มีข้อมูลไม่มากนัก และยังไม่มั่นใจว่าจะชะลอการเป็นมากของโรคได้หรือไม่ เช่น ยาต้านเอนไซม์ เอ็ม เอ โอ บี (MAOB-inhibitor) และโดปามีนอะโกนิทส์ (dopamine agonist) เป็นต้น
การรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษานี้ไม่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลทั่วไปสามารถรักษาได้เฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือศูนย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น การรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยกระแสไฟฟ้า และการผ่าตัดฝังต่อมหมวกไต (ยังไม่นำมาใช้ในทางปฏิบัติจริง) การรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นไม่ใช่วิธีการรักษาที่ทำให้หายขาดเป็นเพียงการรักษาที่ทำในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมการรักษาด้วยยาข้างต้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม การปฏิบัติตัวเป็นสิ่งที่สำคัญในการรักษาโรคอย่างยิ่งเพราะจะมีส่วนทำให้อาการดีขึ้นไม่รุนแรงมากขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด เช่น การทานยา ทานอาหารให้เป็นเวลา ทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอไม่ทำให้ท้องผูก เป็นต้น
การรักษาโรคพาร์กินสันสามารถทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้น ถึงแม้ไม่สามารถทำให้หายขาดได้ แต่ก็ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนคนที่ไม่เป็นโรคพาร์กินสันได้ และมีชีวิตยืนยาวเหมือนคนอื่น ๆ ได้ เช่นกัน ดังนั้นอย่าตกใจหมดกำลังใจถ้าท่านหรือคนที่คุณรักเป็นโรคพาร์กินสัน