Menu Close

โรคลมชัก และ ลมชักชนิดเหม่อ

ลมชักชนิดเหม่อ (Absence seizure)

ลมชักหรือโรคลมชักคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าผู้ที่มีอาการโรคนี้ต้องมีการชักแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัวหมดสติ หรือชักแบบลมบ้าหมู (Generalised tonic-clonic seizure) แต่จริงแล้วการชักมีหลายรูปแบบได้แก่

– การชักเฉพาะส่วนของร่างกายและผู้ป่วยรู้สึกตัวดี (Simple motor seizure)

– การชักแบบสะดุ้ง (Myoclonic seizure)

– รวมทั้ง “การชักแบบ/ชนิดเหม่อ หรือโรคลมชักแบบ/ชนิดเหม่อ (Absence seizure หรือ Petit mal seizure)”

การชัก/ลมชักแบบเหม่อนี้มีลักษณะอย่างไร มีภาวะอะไรที่มีลักษณะคล้ายกัน เกิดจากอะไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นการชัก/ลมชักแบบเหม่อ รักษาหายหรือไม่ ผมจะขอเล่าที่ละประเด็นดังนี้

โรคลมชักชนิดเหม่อคืออะไร?

โรคลมชักแบบ/ชนิดเหม่อคือ การชักรูปแบบหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเหม่อนิ่งเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนใหญ่แล้วระยะเวลาที่มีอาการจะนานประมาณ 15 – 30 วินาทีไม่เกิน 45 วินาที และไม่มีการเสียการทรงตัวหรือล้มลงแต่อาจมีอาการกระพริบตาบ่อย ๆ ช่วงมีอาการ

อนึ่ง โรคลมชักชนิดเหม่อเป็นลมชักชนิดพบได้น้อยมักพบเกิดในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่มาก และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง สถิติที่มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาคือพบโรคนี้ได้ประมาณ 1.9 – 8 รายต่อประชากร 1 แสนคน

อาการชักชนิดเหม่อมีลักษณะคล้ายกับอาการอะไรบ้าง?

อาการชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อนั้นมีลักษณะคล้ายกับการนั่งเหม่อลอยทั่ว ๆ ไป และ/หรือคล้ายกับการนั่งหลับซึ่งลักษณะที่ต่างกันของทั้ง 3 อาการได้แก่

ดังนั้นการวินิจฉัยโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อจะเริ่มจากข้อมูลของอาการดังกล่าว ร่วมกับอาการและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเกิดอาการชักชนิดเหม่อ

สรุป

โรคลมชักชนิด/แบบเหม่อนี้พบบ่อยในเด็กจึงต้องฝากผู้ปกครองคุณครูให้หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก ๆ ทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่มีผลการเรียนแย่ลงหรือมีพฤติกรรมผิดปกติไปจากเดิม (เช่น การแยกตัว ขาดสมาธิ) ควรนำเด็กปรึกษาแพทย์ เพราะการวินิจฉัยโรคได้เร็วจะทำให้เด็กไม่ได้รับผลเสียมากนักต่อสมอง/สติปัญญา และสามารถหายเป็นปกติได้

แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคลมชักชนิดเหม่อได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคลมชักชนิดเหม่อได้โดยการพิจารณาจากอาการผิดปกติของผู้ป่วยอย่างละเอียด และถ้ามีการบันทึกภาพที่เกิดอาการมาให้แพทย์ดูด้วยก็จะทำให้วินิจฉัยได้แน่นอนมากขึ้น กรณีไม่มีอาการขณะแพทย์ตรวจและแพทย์สงสัย แพทย์ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการชักนี้ได้ด้วยการให้ผู้ป่วยหายใจแรงๆลึกๆติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง (Hyperventilation) และถ้าเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองได้แพทย์ก็จะส่งตรวจ ซึ่งจะพบความผิดปกติที่มีลักษณะเฉพาะคือคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติแบบมีอาการชักชนิด 3 ครั้งต่อวินาที   (3 Hz spike and wave)

เมื่อใดควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็วเสมอ ถ้าผู้ปกครองเห็นว่าลูกหรือเด็กหรือผู้มีอาการในบ้านมีอาการผิดปกติสงสัยว่าจะเป็นลมชักชนิดเหม่อเพราะอาการที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีอาการได้วันละหลายๆครั้ง ดังนั้นถ้าสงสัยก็ให้พาเด็ก/ผู้มีอาการพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลได้เลย เพราะถ้าได้รับการรักษาล่าช้าอาจเกิดผลเสียต่อระดับสติปัญญาของผู้ป่วยได้

แพทย์ต้องส่งตรวจอะไรเพิ่มเติมอีกนอกจากคลื่นไฟฟ้าสมอง?

ในการวินิจฉัยโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อนอกจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแล้ว แพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือเอมอาร์ไอสมองเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติในสมอง นอกจากนั้นกรณีวินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นโรคลมชักชนิดเหม่อ แพทย์จะมีการตรวจเลือด เช่น เพื่อตรวจการทำงานของตับของไตก่อนให้ยากันชัก

ผู้ป่วยโรคลมชักควรใช้ชีวิตอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักจะมีความสามารถเหมือน และในระดับสติปัญญาไม่ต่างกับคนทั่วไป ยกเว้นที่มีอาการชักที่รุนแรงและบ่อยมาก ร่วมกับมีรอยโรคหรือสาเหตุที่รุนแรงในสมอง ก็ส่งผลต่อระดับสติปัญญาได้เช่นกัน ในการใช้ชีวิต การเรียนและการทำงาน การปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษา จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยในการเลือกวิธีดำรงชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม สำหรับอาหารนั้นโดยปกติแล้วไม่มีอาหารแสลงหรืออาหารต้องห้าม นอกเสียจากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น อาหารแป้งและหวานในผู้ป่วยมีโรคเบาหวานร่วมด้วย เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับชา และกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีกาเฟอีนนั้นไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีผลต่อผู้ป่วยโรคลมชัก แต่จากประสบ การณ์ของผู้เขียนเองพบว่า มีผู้ป่วยที่ดื่ม ชา กาแฟ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ ดังนั้นผู้ป่วยต้องสังเกตผลกระทบในแต่ละกรณีของอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ด้วยตนเองแล้วปรับตัวไปตามนั้นผู้ป่วยที่รับประทานยากันชักนั้น ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดอื่น ร่วมด้วย ควรต้องแจ้งให้แพทย์ที่รักษาโรคอื่น ๆ ทราบว่า ผู้ป่วยรับประทานยากันชักอยู่ เพราะยากันชักนั้นมีโอกาสทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่น ๆ ได้ง่ายและห้ามหยุดยากันชักเองอย่างเด็ดขาดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ที่รักษาโรคลมชักก่อน

ผู้ป่วยชายโรคลมชัก สามารถแต่งงานและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ สำหรับผู้ป่วยหญิงโรคลมชัก สามารถแต่งงานและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติเช่นกัน แต่ต้องมีการวางแผนครอบ ครัวที่ดี คือในระหว่างการรักษาที่ต้องรับประทานยากันชักยังไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะยากันชักเกือบทุกชนิดอาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยทราบว่าตั้ง ครรภ์ ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคลมชัก ห้ามหยุดยากันชักหรือปรับเปลี่ยนชนิดและขนาดของยากันชักเอง เพราะอาจเป็นสาเหตุให้มีอาการชักที่รุนแรงจนอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์และต่อการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

ในผู้ป่วยหญิงที่ยังไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ ควรต้องปรึกษาสูติแพทย์ในเรื่องวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมเสมอ เพราะการใช้ยาคุมกำเนิด อาจมีปฏิกิริยากับยากันชัก อาจลดประสิทธิภาพของยากันชัก หรือยากันชักอาจลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง บทบาทของการวางแผนครอบครัว)

กรณีที่ผู้ป่วยต้องเดินทาง ต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดอาการชักได้ง่ายเนื่องจาก เหนื่อย อดนอน อาจรับประทานยาไม่ตรงเวลา หรืออาจลืมนำยาไปด้วย ดังนั้นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และต้องไม่ลืมรับประทานยากันชัก กรณีต้องไปโรงเรียน ควรต้องแจ้งให้คุณครูที่โรงเรียนทราบว่าเป็นโรคลมชัก แจ้งถึงอา การชักว่าเป็นแบบไหน และวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องถ้าเกิดอาการชักขึ้น ส่วนการทำงานนั้น สามารถทำงานได้เหมือนคนที่ไม่มีอาการชัก ยกเว้นการทำงานบนที่สูง และทำงานกับเครื่องจักรกล โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ต้องมีระเบียบในการดำรงชีวิต กล่าวคือ ต้องรับประทานยากันชักให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการชัก ไม่อดนอน ไม่นอนดึก ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ควรขับรถ

ใครมีโอกาสเป็นโรคลมชักชนิดเหม่อได้บ่อย?

โรคลมชักชนิด/แบบเหม่อพบบ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มักพบในช่วงอายุ 4 – 10 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เด็กที่มีประวัติไข้ชักและ/หรือมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว มีโอกาสมากกว่าเด็กอื่น ๆ ที่ไม่มีประวัติดังกล่าวที่จะเกิดโรคนี้

อนึ่ง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อนี้

โรคลมชักชนิดเหม่อมีอันตรายต่อสมองหรือไม่?

เนื่องจากโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อนั้นสามารถมีอาการได้บ่อย ๆ หลายครั้งต่อวัน ถึงแม้อาการจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ (เป็นวินาที) แต่เมื่อเป็นบ่อยก็จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาต่อสมองในการเรียนรู้และระดับสติปัญญาอาจลดต่ำลงได้ ส่วนโอกาสการเกิดอุบัติเหตุนั้นพบได้ไม่บ่อย ยกเว้นเกิดอาการชักฯขณะขับรถและสูญ เสียการควบคุมตัวเองและรถ นอกจากนี้ โรคนี้อาจส่งผลต่อพฤติกรรมเช่น การแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน ๆ ได้

โรคลมชักชนิดเหม่อรักษาได้ผลหรือไม่? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อ โดยทั่วไปเป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่ดีสามารถรักษาควบคุมโรคได้ดี แต่อย่างไรก็ตามการพยากรณ์โรคขึ้นกับการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็วหรือช้าความสม่ำเสมอของการกินยารักษาตามแพทย์สั่ง และการดำเนินชีวิตประจำวันตามคำแนะนำของแพทย์หรือไม่

ทั้งนี้ ผลการรักษาประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยตอบสนองดีต่อยา แต่ผู้ป่วย 1 ใน 3 มีอาการต่อเนื่องไปจนถึงผู้ใหญ่ และอาจเกิดการชักแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัวตามมาได้ถ้าขาดยาหรือตอบสนองต่อยาได้ไม่ดี นอกจากนั้นแล้วในหัวข้ออันตรายต่อสมอง ถ้ารักษาควบคุมโรคได้ไม่ดีหรือพบแพทย์ล่าช้า ก็อาจทำให้มีระดับสติปัญญาลดต่ำลงได้

ผู้ป่วยห้ามทำกิจกรรมใดบ้าง?

โรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อมีอันตรายไม่มากนัก เพราะมีการเสียความรู้สึกตัวเพียงระยะเวลาสั้นๆ (เป็นวินาที) และไม่เสียการทรงตัว แต่ก็ไม่ควรขับรถหรือเล่นกีฬาผาดโผน และถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ในขณะมีอาการ

รักษาโรคลมชักอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยขณะชักและหลังชักอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคลมชักจะได้รับการรักษาด้วยยากันชักเป็นระยะเวลานานประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี เพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการชักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีนับตั้งแต่ควบคุมอาการชักได้และกรณีที่มีสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมองติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) ต้องได้รับการรักษาแก้ไขสาเหตุนั้น ๆ ร่วมด้วย การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง“สิ่งกระตุ้น” ต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการชัก เช่น

– การอดนอน

– การดื่มแอลกอฮอล์

– การพักผ่อนไม่เพียงพอ

– ภาวะไข้สูง

– การเล่นกีฬาหรือทำงานจนเหนื่อยมาก

– การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน

– การขาดยากันชัก ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งทุกวันให้ครบถ้วน ถูก ต้อง

อนึ่ง สำหรับผู้ป่วยที่ต้องขับรถควรหลีกเลี่ยงเพราะถ้ามีอาการชักขณะขับรถจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

บางกรณีผู้ป่วยจะมีอาการเตือนก่อนที่จะมีอาการชัก เช่น ปั่นป่วนในท้อง จุกแน่นหน้าอก ชามือ แขน-ขา หรือกระตุกก่อนที่จะมีอาการชักเกร็ง กระตุกทั้งตัวและหมดสติ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการเหล่านี้ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลได้แนะนำไว้ เช่น ต้องอยู่ในที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการล้ม ชัก แล้วเกิดอุบัติเหตุซ้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ดีระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาอาจเกิดอาการชักขึ้นได้ การช่วยเหลือที่ถูกต้องต่อผู้ป่วยที่กำลังชัก คือ การป้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและป้องกันการสำลักโดยการจับผู้ป่วยนอนลงในที่ปลอดภัย จัดตะแคงศีรษะไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย คลายเสื้อผ้าให้หลวม ไม่ควรงัดปากผู้ป่วยเพื่อนำช้อน นิ้วมือ หรือวัสดุใด ๆ ใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วย เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ ไม่ควรกดหน้าอก ท้องหรือยึดรั้งแขนขาผู้ป่วย ที่สำคัญผู้ช่วยเหลือควรตั้งสติตนเองให้ดี ภายหลังการหยุดชักทุกครั้งไม่จำเป็นต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพราะส่วนใหญ่การชักจะหยุดได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาใด ๆ จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักนานมากกว่า 5-10 นาทีและไม่รู้สึกตัวหรือชักนานกว่าทุกครั้งที่มีอาการหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในขณะชัก เช่น ล้มลงศีรษะแตก เป็นต้น

ต้องรักษานานเท่าไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ผู้ป่วยโรคลมชักต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 2 ปีนับตั้ง แต่ไม่มีอาการชัก โดยหลังจากนั้นแพทย์จะค่อย ๆ ลดขนาดยาลงครั้งละ 15-20% ทุก ๆ 1-2 เดือน จนกระทั่งหยุดยากันชักได้เนื่องด้วยเป็นการรักษาในระยะยาวแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอทุก 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับผลการรักษาว่าควบคุมอาการชักได้หรือไม่ และมีอาการชักบ่อยเพียงใด ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรต้องพบแพทย์ตรงตามนัดสม่ำเสมอตลอดไปจนกว่าแพทย์จะอนุญาตว่าผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์แล้ว

โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมาตรวจตามนัด เพื่อประเมินอาการชักและประเมินการใช้ยาว่ามีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากยาหรือไม่ รวมทั้งความสม่ำเสมอในการรับประทานยากันชัก แต่กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักบ่อรุนแรงมากขึ้นหรือได้รับอุบัติเหตุจากการชัก หรือมีผลแทรกซ้อนจากยาที่ผิดไปจากเดิม หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง หรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่ต่างไปจากเดิมหรือมีความกังวลในอาการแนะนำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

โรคลมชักรักษาหายไหม?

ผู้ป่วยโรคลมชัก 80-90% ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยากันชัก มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก มักใช้ในกรณีมีสาเหตุจากเนื้องอกสมอง และกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชัก โดยแพทย์จะผ่าตัดบริเวณสมองส่วนกลีบขมับ (Tempo ral lobe) โดยประมาณ 70% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสามารถควบคุมอาการชักได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักและไม่เหมาะกับการผ่าตัดบางส่วนจะตอบสนองต่อการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical stimulation) ไว้ที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 โดยมีเครื่องควบคุมการปล่อยกระแสไฟฟ้าอยู่ภายนอกสมองเพื่อควบคุมอาการชัก

การรักษาด้วยยากันชักที่ได้ผลคือยาอะไร?

แนวทางการรักษาโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อคือ การกินยากันชักและการปฏิบัติตนตามแพทย์พยาบาลแนะนำ

ก. ยากันชัก: ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อเช่น ยากันชักที่ชื่อว่า โซเดียมวาวโปเอต (Sodium valproate)

ข. การปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์: ที่สำคัญคือ

– กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา

– ไม่หยุดยาเอง

– พักผ่อนให้เพียงพอ

– ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสิ่งทำให้เกิดการขาดสติที่ส่งผลถึงการรักษา

– พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ

– มีอาการชักรุนแรงขึ้นคือ ชักบ่อยขึ้น เกิดอุบัติเหตุจากการชัก การชักเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม (เช่น เปลี่ยนเป็นชักกระตุก)

– ทานยากันชักแล้วมีอาการผิดปกติหรือสงสัยแพ้ยา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com 2 บทความคือ เรื่อง ยากันชัก และเรื่อง ยา Valproate)

– เมื่อกังวลในอาการ

การรักษาต้องทานยานานเท่าใด?

ในโรคลมชักชนิดเหม่อ ต้องทานยากันชักอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่งเพื่อควบคุมอาการให้ได้นานอย่างน้อย 2 ปี และแพทย์จะค่อยๆลดยากันชักลง จนอาจหยุดใช้ยาได้เหมือนการรัก ษาในโรคลมชักชนิดอื่น ๆ ทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคลมชัก)

ดูแลเด็กโรคลมชักชนิดเหม่ออย่างไร?

– การดูแลเด็กโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อที่สำคัญคือ

– การเตือน/การดูแลให้เด็กทานยากันชักให้สม่ำเสมอ

– ดูแลเด็กไม่ให้อดนอน

– ดูแลเด็กให้เล่นกีฬาตามความเหมาะสม

– แจ้งคุณครูและโรงเรียนให้ทราบและร่วมมือกันในการดูแลเด็ก

– ถ้าเด็กมีอาการผิดปกติมากขึ้นหรืออาการผิดไปจากเดิมหรือการชักเปลี่ยนรูปแบบไป (เช่น ชักกระตุก) ควรรีบพาไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อเป็นโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อ การดูแลตนเองได้แก่

– ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ

– กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง

– พักผ่อนให้เพียงพอโดยเฉพาะนอนหลับให้เพียงพอ

– ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

– ระวังในเรื่องการขับขี่ยวดยาน ประเภทงาน และประเภทกีฬา

– พบแพทย์ตามนัดเสมอ

– พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อการพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

Posted in โรคลมชัก

บทความที่เกี่ยวข้อง