Menu Close

กลุ่มอาการ ลืมชั่วคราว

กลุ่มอาการลืมชั่วคราว (Transient Amnesic Syndrome)

“ฉันมาทำอะไรบนเวทีนี้ และพวกเธอมาทำอะไรกัน ฉันงงหมดแล้ว” เหตุการณ์แบบนี้เกิด ขึ้นได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ทำให้ผู้ที่มีอาการและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เกิดความตกใจและสับสนว่าเป็นอะไรไป เป็นอาการของโรคสมองเสื่อม หรืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาตหรือไม่ ซึ่งแพทย์เรียกลักษณะอาการแบบนี้ว่า “กลุ่มอาการลืมชั่วคราว (Transient amnesic syndrome)” เรามาทำความรู้จักความผิดปกตินี้กันดีกว่าครับ

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวคืออะไร

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวคือ กลุ่มอาการที่ผู้ป่วยมีอาการลืมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนเหตุการณ์ปัจจุบันและเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งอาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วและหายได้เองโดยไม่มีอาการผิดปกติอย่าง  อื่น ๆ เกิดร่วมด้วย

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีสาเหตุจากอะไร?

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีสาเหตุได้ 3 สาเหตุหลักคือ

  1. Transient global amnesia (TGA) หรือกลุ่มอาการลืมเหตุการณ์ทั้งหมดชั่วคราว
  2. Transient epileptic amnesia (TEA) หรือกลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุจากการชัก
  3. Psychogenic amnesia หรือกลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุทางจิตเวช

อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อ “กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีลักษณะความผิดปกติอย่างไร?”

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีกลไกการเกิดได้อย่างไร?

กลไกการเกิดกลุ่มอาการลืมชั่วคราวยังไม่ทราบแน่ชัด โดยอาจเกิดจาก

– สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack)

– โรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine variant)

– ผลจากโรคลมชักเหตุสมองกลีบขมับ (Temporal lobe epilepsy)

– การคั่งของเลือดดำ (Venous congestion) ในสมองเนื่องจากมีการขัดขวางการไหลเวียนของเลือดดำ (Cerebral venous outflow) ทำให้มีการขาดเลือดบริเวณสมองส่วนธาลามัส (Thalamus) หรือสมองส่วนกลีบขมับ (Mesial temporal lobe) ซึ่งสมองส่วนดังกล่าวทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ

– รวมทั้งยังมีการศึกษาที่พบว่าอาจเกิดจากสมองส่วน Hippocampus มีการขาดเลือด ตรวจพบได้จากการตรวจสมองด้วยเอมอาร์ไอ/MRI เทคนิคเฉพาะคือ MRI with DWI/MRI with diffusion weight ingredient

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวพบบ่อยหรือไม่?

ไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แน่ชัดถึงสถิติการเกิดกลุ่มอาการลืมชั่วคราว ในสหรัฐอเมริกาพบประมาณ 5.2 รายต่อประชากร 100,000 ราย แต่จะพบบ่อยในผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปโดยพบสูงเป็น 5 – 10 เท่าของประชากรกลุ่มอื่น ๆ พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีลักษณะความผิดปกติอย่างไร?

กลุ่มอาการลืมชั่วคราวมีลักษณะความผิดปกติดังนี้

  1. กลุ่มอาการ Transient global amnesia (TGA) หรือกลุ่มอาการลืมเหตุการณ์ทั้ง หมดชั่วคราว: เป็นกลุ่มอาการที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบบ่อยในผู้สูงอายุ มีอาการสูญ เสียความจำอย่างเฉียบพลัน จะสูญเสียความจำแบบไปข้างหน้าเป็นหลัก (Anterograde amne sia) คือไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงเกิดกลุ่มอาการฯได้ร่วมกับการสูญเสียความจำแบบย้อนหลัง (Retrograde amnesia) คือลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเกิดกลุ่มอาการนี้ไม่นาน เช่น ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะเริ่มมีอาการครั้งนี้ประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นต้น และมักจะเรียกชื่อคนไม่ถูกจึงทำให้เกิดความกังวลอย่างมาก ผู้ป่วยจึงมักถามซ้ำ ๆ ว่า มาทำอะไร ใครเป็นใคร อยู่ที่ไหน วันนี้วันอะไร และเมื่อบอกไปแล้วก็ยังจำไม่ได้ จึงถามซ้ำ แต่จะไม่สูญเสียความจำส่วนที่เกิดขึ้นมานานแล้ว (Remote memory) และพฤติกรรม ความรู้ ความสามารถอื่น ๆ ปกติดี บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย อาการดังกล่าวจะเป็นอยู่ชั่วคราวไม่นานมากกว่า 4 – 6 ชั่วโมงและจะหายดีภายใน 24 ชั่วโมง และเมื่อหายดีก็จะจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ทั้งหมด แต่ก็ยังอาจจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงเกิดอาการไม่ได้สมบูรณ์ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง(EEG) ในกรณีของ TGA นั้นจะไม่พบความผิดปกติ
  2. กลุ่มอาการ Transient epileptic amnesia (TEA) หรือกลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุจากการชัก: พบในผู้ป่วยวัยกลางคนถึงสูงอายุ มีอาการขึ้นมาทันทีในขณะเดินหรือทำกิจกรรม ส่วนใหญ่จะสูญเสียความจำทั้งส่วนไปข้างหน้า (Anterograde amnesia) และสูญเสียความจำส่วนย้อนหลัง (Retrograde amnesia) ไปมากกว่ากลุ่มอาการ TGA โดยอาจเสียความจำย้อน หลังไปเป็นหลายชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นเดือนก็ได้ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และอาการที่เกิดขึ้นเป็นอยู่ไม่นาน เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆน้อยกว่า 1 ชั่วโมง อาจพบร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆเช่น การถูมือไปมา (Hand automatism) การเคี้ยวปาก (Lip smacking) การได้กลิ่นผิด ปกติ (Olfactory hallucination) การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจะพบความผิดปกติ และผู้ป่วยจะตอบสนองดีต่อยากันชักทั้งนี้กลุ่มอาการนี้เป็นการชักรูปแบบหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มการชักแบบ Complex partial seizure ที่มีจุดกำเนิดจากสมองส่วน Temporal lobe (สมองกลีบขมับ)
  3. กลุ่มอาการ Psychogenic amnesia (กลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุทางจิตเวช): พบในกลุ่มวัยรุ่น อายุไม่มาก พบการสูญเสียความจำแบบรุนแรงแม้กระทั่งชื่อตนเอง ประวัติต่าง ๆ แต่การเรียนรู้เป็นปกติ ไม่มีการถามซ้ำ มักเกิดจากมีความเครียดอย่างรุนแรงในชีวิตเช่น ถูกให้ออกจากการเรียน หมดสภาพนักศึกษา และในกลุ่มอาการนี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไม่พบความผิดปกติ

การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวทำอย่างไร?

แนวทางการรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวได้แก่

ก. การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราว TGA: ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาอะไรเพราะอาการต่างๆหายเองได้ และส่วนใหญ่หายเป็นปกติไม่มีความผิดปกติเหลืออยู่ จึงมีการพยากรณ์โรคที่ดีและมักไม่เกิดเป็นซ้ำ

ข. การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราว TEA: จะให้การรักษาที่สาเหตุชัก แพทย์จึงต้องตรวจหาสาเหตุและยืนยันว่าอาการลืมชั่วคราวนั้นเกิดจากอาการชัก รักษาด้วยยากันชัก และแก้ไขสาเหตุ

ค. การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุจากจิตเวช: ต้องแก้ไขรักษาที่สาเหตุทาง ด้านอารมณ์/จิตใจ และการรักษาทางจิตวิทยาจากจิตแพทย์

การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราว ต้องติดตามระยะยาวหรือไม่?

การรักษากลุ่มอาการลืมชั่วคราวแพทย์จะต้องติดตามรักษาระยะยาวหรือไม่นั้นขึ้นกับกลุ่มอาการเช่น

ก. กลุ่มอาการลืมชั่วคราว TEA ต้องรักษาระยะยาวตามธรรมชาติของโรคลมชัก แนะนำ อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคลมชัก

ข. กลุ่มอาการลืมชั่วคราว TGA นั้นมักไม่เป็นซ้ำจึงไม่มีความจำเป็นในการรักษาระยะยาว ยกเว้นผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการหลอดเลือดสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack: TIA) แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack)

ค. กลุ่มอาการลืมชั่วคราวเหตุจากจิตเวชนั้นต้องรักษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยกลุ่มอาการลืมชั่วคราวควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

– กรณีที่มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “ลักษณะความผิดปกต” เกิดเป็นซ้ำ

– มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

– เกิดผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากยาที่แพทย์สั่งเช่น ง่วงซึมมาก เดินเซ ผื่นแพ้ยา

ป้องกันกลุ่มอาการลืมชั่วคราวได้ไหม?

การป้องกันกลุ่มอาการลืมชั่วคราวยังไม่มีการศึกษาระบุถึงวิธีที่ได้ผลขัดเจน แต่จากกลไกการเกิดโรค/กลุ่มอาการนี้พบว่า การหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือ ความเครียด, การใช้ยานอนหลับและการดื่มแอลกอฮอล์หนัก จะป้องกันได้ระดับหนึ่ง

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นกลุ่มอาการลืมชั่วคราว?

โดยทั่วไปการดูแลตนเองเมื่อมีกลุ่มอาการลืมชั่วคราวได้แก่

– กลุ่มอาการฯTGA: ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองได้เพราะจำอะไรไม่ได้ ผู้ที่พบเห็นควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล และคอยพูดคุยให้กำลังใจ อธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยฟัง ไม่เบื่อหน่ายและตกใจเพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลใจมากยิ่งขึ้น

– กลุ่มอาการฯTEA: การดูแลตนเองคือ ผู้พบเห็นควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล และคอยให้กำลังใจเช่นเดียวกันกับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการ TGA และต้องคอยแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นและทานยารักษาให้สม่ำเสมอ

– กลุ่มอาการฯ Psychotic amnesia: การดูแลตนเองคือ การพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล คอยให้กำลังใจ อธิบายเหตุการณ์ ค่อยๆทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยทราบ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นและให้ออกห่างจากสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีกลุ่มอาการดังกล่าว

อนึ่งทั้ง 3 กลุ่มอาการลืมชั่วคราวนั้นการดูแลตนเองที่สำคัญคือ ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงความเครียด การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยานอนหลับ และควรรักษาสุขภาพกายสุขภาพจิตให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) รวมถึงการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ

Posted in โรคสมองเสื่อม

บทความที่เกี่ยวข้อง