สมองเสื่อม (Dementia)
โรคสมองเสื่อมเป็นคำที่เรียกกลุ่มอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลงหลายๆด้าน คนทั่วไปมักเข้าใจว่าผู้ป่วยมีความบกพร่องเฉพาะความจำเท่านั้น แต่จริงแล้ว ยังมีปัญหาในการใช้ความคิด การเรียนรู้สิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันทั้งในด้านการงาน การเข้าสังคม และชีวิตส่วนตัว โดยขณะที่แพทย์ประเมินผู้ป่วยว่ามีสมองเสื่อมหรือไม่ ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการสับสนอย่าง ฉับพลันหรือมีระดับการรู้สึกตัวบกพร่อง
โรคสมองเสื่อมพบบ่อยแค่ไหน?
โรคสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุทุกเพศ พบว่าทั่วไปแล้วคนที่อายุเกิน 65 ปี พบ 6 – 8% และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น โดยพบสูงถึง 30% ในผู้ที่อายุ 85 ปี
อาการหลงลืมในผู้สูงอายุแตกต่างจากโรคสมองเสื่อมอย่างไร?
สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ โรคสมองเสื่อมไม่ใช่ภาวะปกติของคนที่มีอายุ ผู้สูงอายุมักจะคิดว่าตนเองมีความจำบกพร่อง แท้จริงแล้วอาการหลงลืมเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้สามารถเกิดได้ในผู้สูงอายุซึ่งเรียกว่าอาการหลงลืมตามวัยเช่น ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน ลืมกาน้ำเดือดไว้บนเตาลืมชื่อคนที่เคยรู้จัก ลืมว่าวันนี้วันที่เท่าไร เป็นต้น ที่สำคัญอาการหลงลืมนี้ต้องไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ อาการหลงลืมตามวัยนี้สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ถ้าผู้สูงอายุมีสมาธิมากขึ้น การจดบันทึกเพื่อเตือนตัวเองก็จะช่วยได้เป็นอย่างดี
ส่วนอาการหลงลืมในโรคสมองเสื่อมนั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป มีลักษณะแปลก ๆ และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยอาการหลงลืมมักค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อ เนื่องจนจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย หรือมีพฤติกรรมแปลกๆเช่น ใส่เสื้อกลับด้าน หรือจำไม่ได้ว่าใส่เสื้ออย่างไร อาบน้ำอย่างไร ลืมชื่อสมาชิกในครอบครัว หลงทางกลับบ้าน เป็นต้น
ภาคผนวก IQCODE ฉบับสั้น
IQCODE (Informant Questionnaire on Cognitive Decline in the Elderly):
ขอให้ท่านนึกถึงสภาพของผู้สูงอายุเมื่อ 10 ปีก่อนเทียบกับปัจจุบัน คำถามต่อไปนี้จะถาม เกี่ยวกับการใช้ความจำและสติปัญญาการทำงานของผู้สูงอายุใน 10 ปีก่อนเทียบกับปัจจุบันว่าผู้สูงอายุ (ท่าน) สามารถใช้ความจำได้ “ดีขึ้น, เท่าเดิม หรือเลวลง”
ทั้งนี้ถ้าท่านผู้สูงอายุชอบลืมวางของทิ้งบ่อย ๆ มาตั้งแต่หนุ่มสาวแล้วและก็ยังลืมวางของทิ้งไว้บ่อย ๆ จนถึงปัจจุบันโดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลงก็ให้ถือว่า “เท่าเดิม” ให้สังเกตดูอาการต่าง ๆ เหล่านี้ในปัจจุบันโดยเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน
ถ้าผลการประเมินพบว่า “แย่ลง (มากกว่า 3)” ผู้ถูกประเมินหรือผู้สูงอายุควรไปพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ได้ตรวจประเมินการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมที่แน่นอนตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะการรักษาดูแลแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ได้ประสิทธิภาพการรักษาที่จะคงคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและของผู้ดูแล
อาการโรคสมองเสื่อมที่ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยจะสังเกตได้คือ
– มีความบกพร่องในความจำ การรับรู้ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ: เช่น ลืมคำพูดระหว่างการสนทนา จึงถามซ้ำ ๆบ่อย ๆ หรือพูดวกวนในเรื่องเก่าๆ ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเช่น กินข้าวแล้วก็บอกว่ายังไม่กิน ลืมของมีค่าบ่อย ๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ นาฬิกาข้อมือ กุญแจบ้าน เป็นต้น หลงทางในที่ที่คุ้นเคยเช่น ออกจากบ้านแล้วหาทางกลับบ้านไม่ถูก หรือลืมว่าต้องนั่งรถประจำทางสายใดทั้ง ๆ ที่เดิมเคยนั่งอยู่เป็นประจำ เป็นต้น
– มีความบกพร่องเกี่ยวกับการรับรู้สิ่งรอบตัว: เช่น จำวันที่ เดือน ปีไม่ได้ จำชื่อเพื่อน สมาชิกในครอบครัว และบ้านเลขที่ตัวเอง ไม่ได้
– มีพฤติกรรมผิดปกติ: เช่น มีความบกพร่องในการตัดสินใจแก้ปัญหาเช่น นั่งดูน้ำเดือดบนเตาเฉยๆหรือปล่อยให้น้ำล้นอ่างโดยไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร มีการวางแผนงานหรือความ สามารถในการทำงานลดลง ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มีสุขอนามัยเปลี่ยนไปจากเดิมเช่น ไม่ยอมอาบน้ำ เสื้อผ้าสกปรก หรือไม่โกนหนวดในผู้ชายซึ่งเปลี่ยน แปลงไปจากเดิม หรือมีพฤติกรรมที่คนปกติทั่วไปไม่ปฏิบัติเช่น ชอบขโมยของในร้านค้า เป็นต้น บางคนอาจมีอาการทางจิตเวชเช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว (ประสาทหลอน) มีความเชื่อหรือความคิดหลงผิด นอนไม่หลับ เดินไปเดินมาตอนกลางคืน หรือนอนมากเกินไปทั้งกลางวัน – กลางคืน
– มีอารมณ์ที่ผิดปกติ: เช่น อารมณ์เฉยเมย เฉื่อยชา ไม่อยากคุยกับใคร แยกตัวจากสัง คม หรือมีอารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย พูดจาก้าวร้าว มีความอดทนต่ำ รอนานไม่ได้ ขาดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบมาก่อน ขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมใด ๆ เช่น เดิมชอบทำสวนปลูกต้นไม้ก็เลิกทำโดยไม่มีสาเหตุที่เป็นเหตุเป็นผล
– การเปลี่ยนแปลงด้านความคิด: มีความคิดที่ไม่ยืดหยุ่น มีความบกพร่องในการใช้ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเช่น นึกคำไม่ออก ใช้คำที่เสียงใกล้เคียงกันเช่น เรียกเสื้อเป็นแสง ใช้คำศัพท์แปลกๆแทนหรือใช้คำว่า ไอ้นั่น ไอ้นี่ พูดตะกุกตะกักไม่เป็นประโยคต่อ เนื่อง พูดน้อยลงหรือไม่พูดเลย มีความคิดสร้างสรรค์ลดลง มีความบกพร่องในการเริ่มต้นหัวข้อสนทนา เป็นต้น
– มีความบกพร่องในการประกอบกิจวัตรและในกิจกรรมประจำวัน: เช่น ไม่อาบน้ำ ไม่แต่งตัว หรือแต่งตัวไม่เหมาะสมเช่น ใส่เสื้อชุดนอนไปซื้อของที่ตลาด กลั้นอุจจาระ -ปัสสาวะไม่ได้ หรือปล่อยให้ราดในที่สาธารณะ กินอาหารมูมมามเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่สามารถทำกิจวัตรที่เคยทำเป็นประจำได้เช่น เคยทำอาหารได้ก็ลืมขั้นตอนการทำ รสชาติอาหารต่างไปจากเดิม เคยใช้โทรศัพท์มือถือได้ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ก็ทำไม่ได้ จนในที่สุดจะมีลักษณะเป็นเหมือนเด็กไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
วินิจฉัยโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร?
เมื่อท่านสงสัยว่าท่านหรือญาติของท่านเป็นโรคสมองเสื่อม ควรไปปรึกษาแพทย์ด้านอายุรกรรม แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียด รวมทั้งให้ท่านทำแบบทดสอบเกี่ยวกับความจำเพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติหรือไม่
นอกจากนี้ แพทย์จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย และหาสาเหตุอื่นที่สามารถรักษาได้เช่น การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์และดูระ ดับเกลือแร่ และในผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจภาพสมองทางรังสีวิทยาเช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan brain) หรือตรวจสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กกำลังสูง (MRI, เอมอาร์ไอ) อาจยังมีการตรวจพิเศษทางรังสีวิทยาอื่นซึ่งมีในบางโรงพยาบาลเท่านั้น (เช่น เพทสะแกน/PET scan) ไม่ได้มีทั่วไปซึ่งการตรวจนั้นไม่ยุ่งยากและไม่ได้ทำให้ท่านเจ็บตัวนอกเหนือไปจากการเจาะเลือด
ก. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง/ ซีทีสแกน (CT scan brain): การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์ตรวจสมองในภาพตัดขวาง ทำให้เห็นความผิดปกติในเนื้อสมองที่การเอกซเรย์ธรรมดามองไม่เห็นเช่น เห็นเลือดคั่งในสมอง, บริเวณที่สมองขาดเลือด และเนื้องอกในสมอง เป็นต้น ข้อห้ามในการตรวจเช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้อา หารทะเล แพ้สารทึบแสง/สารทึบรังสี แพ้สารอาหารอื่น ๆ โรคไตวาย ก่อนตรวจต้องงดน้ำงดอาหาร และงดยาตามที่เจ้าหน้าที่ที่ห้องเอกซเรย์แนะนำ ถ้าหากมีข้อห้ามในการตรวจเช่น เคยแพ้สารทึบแสงหรืออาหารทะเล ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบก่อนทำการตรวจ บางรายอาจได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำหากจำเป็นต้องฉีดสารทึบแสง ขณะตรวจผู้ป่วยจะนอนหงายบนเตียงธรรมดา หากรู้สึกผิดปกติสามารถพูดดังๆเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบได้ หลังจากทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแล้ว ถ้าเกิดมีผื่นคัน หายใจลำบาก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ซึ่งผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ปกติและควรดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดสารทึบแสง
ข. การตรวจสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กกำลังสูง/ เอมอาร์ไอ (MRI brain): การตรวจสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กกำลังสูง (MRI brain) เป็นการตรวจสมองโดยการส่งคลื่นวิทยุเข้าไปกระตุ้นเซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆของสมอง ในขณะที่ผู้ป่วยนอนอยู่ในสนามแม่เหล็กและนำสัญญาณซึ่งต่างกันที่ได้รับจากการกระตุ้นนำมาสร้างเป็นภาพด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และสามารถ สร้างภาพได้หลายระนาบ การตรวจวิธีนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความผิดปกติของเนื้อสมองได้ละเอียดมากขึ้นกว่าการทำเอกซเรย์สมองคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะพยาธิสภาพที่เป็นความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น สมองฝ่อ เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด หรือการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมองบางบริเวณ เป็นต้น แต่ค่าใช้จ่ายด้วยการตรวจเอมอาร์ไอสูงกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มากและไม่สามารถทำได้ในทุกโรงพยาบาล
ข้อห้ามในการตรวจเอมอาร์ไอได้แก่ ผู้ป่วยที่ติดเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจชนิดที่เข้าห้องสนามแม่เหล็กไม่ได้ ผู้ที่ผ่าตัดหลอดเลือดโป่งพองและใช้คลิบโลหะหนีบหลอดเลือดไว้ ผู้ที่มีเศษโลหะฝังในลูกตา (เช่น จากอุบัติเหตุ) และผู้ที่ผ่าตัดติดประสาทหูเทียม
สำหรับการเตรียมตัวก่อนเข้าห้องตรวจเอมอาร์ไอ โดยทั่วไปไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ผู้ป่วย อาจได้รับการฉีดยาทางหลอดเลือดดำเพื่อให้เห็นภาพเนื้อเยื่อสมองชัดเจนขึ้น ขณะตรวจควรนอน หลับตาทำจิตใจให้สบาย เพราะบริเวณที่นอนตรวจค่อนข้างแคบและเสียงดังค่อนข้างมาก ควรนอนนิ่งให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ได้ภาพสมองที่ชัดเจน หากมีปัญหาขณะตรวจสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา หลังตรวจฯเสร็จหากเกิดอาการผิดปกติเช่น มีผื่นภายใน 24 ชั่วโมงในรายที่ได้รับการฉีดสารเข้าหลอดเลือดดำ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันทีและดื่มน้ำมาก ๆโดยเฉพาะผู้ที่ฉีดสารเข้า หลอดเลือดดำ
โรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์เหมือนกันหรือไม่?
ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเหมารวมว่าโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคเดียวกัน แท้ จริงแล้วโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดคือประมาณ 65% ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีความผิดปกติอย่างช้า ๆ เป็นปี ๆ ทำให้ผู้ใกล้ชิดบอก จุดเริ่มต้นของอาการไม่ชัดเจน ส่วนสาเหตุอื่นของโรคสมองเสื่อมยังมีได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคสมองเสื่อมจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (โรคสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด) ดื่มสุราเรื้อรัง ภาวะสมองขาดออกซิเจน ภาวะเลือดคั่งในสมอง (เลือดออกในเนื้อสมอง) และภาวะขาดวิตามินบางชนิดเช่น วิตามิน บี-3 เป็นต้น แม้ส่วนมากโรคนี้จะรักษาไม่หายขาด แต่ก็มีประมาณ 5% ที่มีความบกพร่องเฉพาะเกี่ยวกับความจำ สามารถรักษาหายจากอาการดังกล่าวได้ โดยประมาณครึ่งหนึ่งหายเป็นปกติหลังจากได้รับการรักษา
อะไรบ้างเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม?
หลายปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมดังจะกล่าวต่อไป จะเห็นว่าบางปัจจัยสามารถป้องกันรักษาได้เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง การติดสุราเรื้อรัง การสูบบุหรี่ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อม ได้แก่
- อายุมาก
- ประวัติครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อม
- ดื่มสุราเรื้อรัง
- ใช้ยาเสพติด
- มีประวัติโรคซึมเศร้า
- มีโรคปัญญาอ่อน
- ได้รับอันตรายทางสมองเช่น เลือดคั่งในสมอง (ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง)
- มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่
- ประวัติเคยมีภาวะสับสนฉับพลัน
- เคยสัมผัสโลหะหนักบางชนิดเรื้อรังเป็นเวลานานเช่น สารตะกั่ว สารหนู
- มีโรคทางระบบประสาทเช่น โรคพาร์กินสัน
- ติดเชื้อเอชไอวี
โรคสมองเสื่อมป้องกันได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ โดยทั่วไปจึงเน้นการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมดังนี้
- ควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และป้องกันรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อมเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ให้ได้ดี อย่างต่อเนื่อง
- ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากต้องกินยาต่าง ๆ
- ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา สารเสพติด
- ควรให้ผู้สูงอายุได้รับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงด้านโรคต่าง ๆ สม่ำเสม ส่งเสริมให้ทำกิจกรรม เพื่อกระตุ้นสมองเช่น เล่นดนตรี เล่นเกม เต้นรำ
- ให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ผู้สูงอายุควรพบปะญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เป็นประจำ
- กระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่ช่วยชะลอการเสื่อมของร่างกายเข่น เดินเล่น วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน