แพทย์วินิจฉัย โรคสมองอักเสบ ได้อย่างไร?
การวินิจฉัยโรคสมองอักเสบ แพทย์วินิจฉัยจาก
- อาการดังกล่าวข้างต้นใน’หัวข้อ อาการฯ’
- สำหรับการวินิจฉัยว่าสมองอักเสบเกิดจากเชื้อใด จะต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้แก่การตรวจวิเคราะห์น้ำไขสันหลัง ดูชนิดของเม็ดเลือดขาว, ความดันของน้ำไขสันหลัง, ระดับน้ำตาลและระดับโปรตีนในน้ำไขสันหลัง, และการย้อมเชื้อ เพื่อดูแบคทีเรีย, จะช่วยแยกคร่าวๆได้ว่าโรคสมองอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส, แบคทีเรีย, เชื้อรา, หรือโปรโตซัว, หรือ สาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- หลังจากคาดการณ์ว่า สมองอักเสบน่าเกิดจากเชื้อในกลุ่มใดแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือต้องระบุชนิดเชื้อเพราะมีความสำคัญต่อการเลือกใช้ยารักษา
– ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรีย หรือโปรโตซัว ก็อาศัยการเพาะเชื้อใน ห้องปฏิบัติการ
– สำหรับเชื้อไวรัส การเพาะเชื้อทำได้ยากและความไว (โอกาสตรวจพบเชื้อ) ต่ำ การตรวจที่มีความไวและจำเพาะสูง คือ การตรวจดูรหัสพันธุกรรมของไวรัสด้วยเทคนิค ที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR) แม้จะเป็นการตรวจที่มีราคาแพงแต่จำเป็นในผู้ป่วยที่สงสัยว่าน่าจะเกิดจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะในเด็กทารก เพื่อที่จะแยกให้ได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเริมหรือไม่ เพราะเชื้อชนิดนี้มียาสำหรับรักษาเฉพาะ ส่วนเชื้อชนิดอื่นการตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์จะมีความไวและความจำเพราะไม่สูงมาก
- การตรวจหาสารภูมิคุ้มกัน/แอนติบอดี(Antibody)ของเชื้อในน้ำไขสันหลัง เป็นอีกวิธีที่ใช้ระบุชนิดของเชื้อไวรัสได้ สำหรับไวรัสเริม วิธีนี้จะสามารถตรวจพบเมื่อมีสมองอักเสบนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ซึ่งอาจทำให้ล่าช้าในการรักษา การตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคเริมหรือไม่ จึงต้องใช้เทคนิค พีซีอาร์ ดังกล่าว
- การตรวจเลือดซีบีซี(CBC)เพื่อดูเม็ดเลือด ถ้าเป็นเชื้อไวรัส การตรวจ ดูเม็ดเลือดมักจะปกติ หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรีย เม็ดเลือดขาวจะขึ้นสูง หรือ สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวจะปกติ เป็นต้น
- การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอ เพื่อแยกโรคอื่นที่ให้อาการคล้ายสมองอักเสบ เช่น เนื้องอกสมอง หรือ ตรวจว่าความดันในสมองสูงหรือไม่ เพราะถ้าสูง จะไม่สามารถเจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจได้ นอกจากนี้ อาจช่วยบอกชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดสมองอักเสบได้ โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อเริม และเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii
- การตัดชิ้นเนื้อสมองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นวิธีที่ยุ่งยากและอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เพราะต้องวางยาสลบและเปิดกะโหลกศีรษะ จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถหาสาเหตุของเชื้อโดยวิธีอื่น ๆ ได้