โรคสมองอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
อัตราการเสียชีวิต และผลกระทบ (ผลข้างเคียง)ที่เกิดขึ้นหลังจากหายจากโรคสมองอักเสบแล้ว จะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค ยกตัวอย่าง ในเชื้อไวรัสที่เห็นความแตกต่างชัดเจน คือ ถ้าเป็นการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าโอกาสเสียชีวิตคือ 100%, ที่ร้ายแรงรองลงมาคือเชื้อ Eastern equine encephalitis virus ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตถึง 50-75% และ 80% ของผู้ที่รอดชีวิตจะมีความพิการทางสมองตามมา, แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อ California encephalitis virus จะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า 1% และแทบไม่เกิดความพิการทางสมองในผู้ที่รอดชีวิต
สำหรับโรคสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสเริมถ้าได้รับยาต้านไวรัสรักษา โอกาสรอดชีวิตมีประมาณ 80% และในจำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิต ประมาณ 50% จะมีความพิการทางสมองตามมา
ส่วนโรคสมองอักเสบจากเชื้อ เจอี พบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 15-30% โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่รอดชีวิตจะมีความผิดปกติทางสมองหลงเหลืออยู่ เช่น ปัญญาอ่อน ชัก เกร็ง อัมพาต เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันโรคสมองอักเสบอย่างไร?
การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคสมองอักเสบ ได้แก่
ก. สำหรับโรคสมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสกลุ่มที่อาศัยแมลงเป็นพาหะ ในประเทศไทย มีวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี โดยแนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนเมื่ออายุได้ 1 ปีครึ่ง ซึ่งถ้าใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายให้ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม แต่ถ้าเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นให้ฉีด 2 เข็ม เชื้อไวรัส เจอี อาศัยยุงรำคาญเป็นพาหะโรค และหมูเป็นแหล่งรังโรค แต่การป้องกันโดยการควบคุมจำนวนยุงซึ่งอาศัยอยู่ในนาข้าวและควบคุมการเลี้ยงหมูเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม สำหรับประเทศอื่น ๆ ก็จะมีวัคซีนป้องกันไวรัสกลุ่มที่อาศัยแมลงเป็นพาหะตัวอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญกับประเทศนั้น ๆ
ข. โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม โรคอีสุกอีใส และโรคพิษสุนัขบ้า มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน แนะนำอ่านรายละเอียดในเรื่องวัคซีนเหล่านี้ได้ในเว็บ haamor.com ในบทความดังต่อไปนี้
- ตารางการรับวัคซีนหรือตารางการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน
- วัคซีนที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย(Thailand National Essential Medicine: Vaccine)
- วัคซีนหัดเยอรมัน
- วัคซีนโรคอีสุกอีใส
- วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
ค. สำหรับเชื้อโรคเริม, เชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ, เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อรา, เชื้อโปรโตซัว, ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน