สมองอักเสบ (Encephalitis)
แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส วว. พยาธิวิทยากายวิภาค
โรคสมองอักเสบ (Encephalitis) คือ โรคที่เนื้อสมองมีการอักเสบ การอักเสบอาจเกิดทั้งสมองหรือบางส่วนของเนื้อสมอง สามารถเป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรังก็ได้ สาเหตุของสมองอักเสบเกิดได้ทั้งจาก การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว/Protozoa) รวมทั้งจากสาเหตุอื่นที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น จากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ส่วนคำว่า สมองใหญ่อักเสบ (Cerebritis) คือ ภาวะที่เนื้อสมองมีการอักเสบรุนแรง และในที่สุดจะกลายเป็นฝีในสมองส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดที่รุนแรง ทั้งนี้ เชื้อที่เป็นสาเหตุสมองอักเสบ เชื้อบางตัว/บางชนิดมียารักษา บางชนิดไม่มีและบางชนิดมีวัคซีนสำหรับป้องกันการเกิดโรคได้
สถิติการเกิดสมองอักเสบในประเทศตะวันตกในแต่ละปี ประมาณ 7.4 รายต่อประชากร 1แสนคน ส่วนในประเทศเขตร้อนพบได้ 6.3 รายต่อประชากร1แสนคนต่อปี
โรคสมองอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?
ก. ไวรัส: เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด มีไวรัสอยู่หลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบได้
- แต่ที่พบบ่อยสุด คือ กลุ่มของไวรัสที่อาศัยแมลงเป็นพาหะโรคนำโรคมาสู่คนซึ่งเรียกว่า อาร์โบไวรัส(Arboviruses) ซึ่งมีอยู่หลายชนิดในแต่ละประเทศแต่ละทวีปจะพบชนิดของไวรัสในกลุ่มนี้ที่เป็นสาเหตุของโรคไม่เหมือนกัน และมักเกิดการระบาดเป็นช่วง ๆ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาไวรัสที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ชื่อ St. Louis encephalitis virus, California encephalitis virus และ West Nile encephalitis virus (โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์)
- สำหรับประเทศไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย ไวรัสที่เป็นสาเหตุหลัก ชื่อ Japanese encephalitis virus (ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดไข้เลือดออก) ไวรัสชนิดนี้อาศัยยุงรำคาญ (บางคน เรียกว่า ยุงบ้าน เป็นยุงตัวเล็ก ๆ สีดำ หรือ น้ำตาลเข็ม ไม่มีลวดลายบนตัว หรือ บนปีก เพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำเน่าเสียซึ่งมักอยู่ใกล้ๆบ้าน หากินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่มักพบเห็นเวลาหัวค่ำ จึงพบได้ทั่วไปตามบ้านพักอาศัย โดยเฉพาะในแหล่งชุมชน) เป็นตัวนำโรคมาสู่คน และสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคของไวรัสชนิดนี้ที่สำคัญ คือหมู นอกจากนี้ได้แก่ นก ม้า วัว ควาย แพะ แกะ โดยที่สัตว์เหล่านี้จะไม่มีอาการปรากฏให้เห็น ยกเว้นม้าที่อาจมีอาการได้
- ไวรัสในกลุ่มอื่นที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบชนิดที่พบเห็นได้เหมือนกันทั่วโลก แต่พบได้น้อย เช่น ไวรัสเริม(โรคเริม), ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคคางทูม, ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด, ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส, ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน, ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า, ไวรัส HIVที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ ,ไวรัสชื่อย่อว่า อีบีวี ( EBV, โรคติดเชื้ออีบีวี), และไวรัสชื่อย่อว่า ซีเอ็มวี(CMV, โรคติดเชื้อซีเอมวี)
ข. แบคทีเรีย: พบเป็นสาเหตุได้น้อยกว่าไวรัสมาก โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดสมองอักเสบแบบ ‘สมองใหญ่อักเสบ’ และกลายเป็นฝีในสมอง ส่วนน้อยจะทำให้เกิดสมองอักเสบแบบทั่วไปที่ไม่กลายเป็นฝี ซึ่งอาการของสมองใหญ่อักเสบ จะแตกต่างกับอาการของสมองอักเสบทั่วไป จึงจะไม่ขอกล่าวถึงโรคสมองใหญ่อักเสบอีกต่อไป
ค. โปรโตซัว(Protozoa/สัตว์เซลล์เดียว): พบเป็นสาเหตุได้น้อยเช่นกัน เช่น โปรโตซัวที่ทำให้เกิด โรคมาลาเรีย, โปรโตซัวชื่อ Acanthamoeba spp.ที่ทำให้เกิดกระจกตาอักเสบในคนที่ใส่คอนแทคเลนส์, โปรโตซัวชื่อ Naegleria fowleri ที่พบอยู่ในแหล่งน้ำจืดและจะติดมาจากการว่ายน้ำ, โปรโตซัวชื่อ Toxoplasma gondii ที่ทำให้เกิดโรคในหลายอวัยวะและทำให้ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อพิการได้
ง. เชื้อรา: พบเป็นสาเหตุได้น้อยมาก เชื้อส่วนใหญ่จะทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเป็นฝีในสมองมากกว่าเกิดโรคสมองอักเสบ
จ. สาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ: เช่น โรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคทำงานผิดปกติ ชื่อโรค Acute disseminated encephalitis, หรือ จากการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่สมองและสู่เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ผู้ป่วยทุกคน ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อมีอาการสำคัญที่บ่งว่า น่าจะมีโรคสมองอักเสบ คือ ระดับความรู้สึกตัวที่ลดลง เช่น ดูซึม ๆ ไม่พูดจา ไม่ทำกิจกรรมที่เคยทำ ซึ่งคนที่อยู่ใกล้ชิดต้องเป็นผู้สังเกต โดยเฉพาะถ้าร่วมกับ มีไข้, บ่นปวดศีรษะ, อาเจียน, ให้รีบพาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว (ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ)
สำหรับอาการอื่น ๆ จะค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วที่จะต้องพาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ได้แก่ อาการชัก, เป็นอัมพาต, พูดไม่ได้, สับสน, และ ประสาทหลอน เด็กที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคเริม โดยเด็กมีอาการไม่ค่อยดูดนม งอแงบ่อย และ/หรือตรวจพบมีตุ่มตามตัว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
ถ้าถูกสุนัข แมว หนู หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด รวมทั้งค้างคาว งับ กัด เลีย แผล เลียปาก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาการรับวัคซีนและอาจต้องรับยาภูมิคุ้มกันกรณีโรคพิษสุนัขบ้า
บรรณานุกรม
Kenneth L.Tyler, viral meningitis and encephalitis, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001.
https://emedicine.medscape.com/article/791896-overview#showall [2019,June15]
https://en.wikipedia.org/wiki/Encephalitis [2019,June15]