โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่?
- โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ที่พบได้ในโรคทางพันธุกรรมเหล่านี้ คือ
- โรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue disease ) เช่น โรค Ehlers –Danlos syndrome
- โรคถุงน้ำไต (Polycystic kidney)
- โรคท่อเลือดแดงผิดปกติ (Coarctation of aorta)
- โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองทางพันธุกรรม (Family history of brain aneurysm)
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองคือ อาการผิดปกติทางระบบประสาท ซึ่งที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการปวดหัวอย่างรุนแรงที่สุดในชีวิตแบบไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นขึ้นแบบทัน ทีทันใด ร่วมกับอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คอแข็ง (Stiffness of neck)
- ตามัว มองเห็นไม่ชัด
- ชัก
- หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น
- สับสน
- หมดสติโคม่า
- อาจเสียชีวิตทันที
ซึ่งอาการทั้งหมดนั้นเกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภาพสมองจากสาเหตุอื่น ๆเช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองกรณีมีอุบัติเหตุที่สมอง เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายมีหลอดเลือดโป่งพองขนาดโต หลอดเลือดที่โป่งพองที่โตนั้นจึงไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง จึงอาจก่ออาการได้ เช่น ปวดหลังลูกตา, รูม่านตาขยายโตทำให้ตาพร่า, มองเห็นภาพซ้อนเนื่องจากการกลอกลูกตาเสียไป, ชาบริเวณใบหน้าครึ่งซีกและ/หรือลืมตาไม่ได้