รักษาโรคอัลไซเมอร์อย่างไร?
แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
วว. พยาธิวิทยากายวิภาค
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด การรักษาด้วยยาอาจช่วยรักษาอาการที่เป็นได้มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ไม่มียาตัวไหนที่จะสามารถชะลอหรือหยุดการดำเนินของโรคได้ แบ่งการรักษาออกได้เป็น
- การรักษาด้วยยา แบ่งเป็น
การรักษาอาการความจำเสื่อม ปัจจุบันมียาอยู่ 4 ชนิดที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ในการนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คือ Donezpezil , Rivastigmin, Galantamine, และ Memantine
มีการศึกษาพบว่า การใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) ช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้ แต่ก็ยังไม่มีการศึกษายืนยันชัดเจน บางการศึกษาพบว่าการให้วิตามินอี เสริมในขนาดสูงจะช่วยชะลอการเสียชีวิตได้ แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้
การรักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่รุนแรงรวมทั้งอาการประสาทหลอน โดยการใช้ยารักษาโรคจิตมารักษาตามอาการที่ปรากฏ
- การรักษาทางจิตสังคม ได้แก่
การรักษาที่มุ่งเน้นการกระตุ้นสมอง เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด การบำบัดโดยอาศัยสัตว์เลี้ยง
การบำบัดด้วยการรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต เช่น การรวมกลุ่มทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในอดีต การใช้ภาพถ่าย สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน ดนตรี ที่ผู้ป่วยคุ้นเคยในอดีตมาช่วยฟื้นความทรงจำ
การให้เข้าไปอยู่ในห้องที่เรียกว่า Snoezelen room ซึ่งเป็นห้องที่ออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมภายในที่เหมาะกับวิธีการกระตุ้นการรับรู้และความรู้สึกที่หลากหลาย ที่เรียกว่า Multisensory integration อันได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับสัมผัส และการเคลื่อนไหว
- การให้การดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะต้องเข้าใจอาการของโรค ทำใจ ยอมรับ อดทน ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยไว้คนเดียว และเข้าใจการดำเนินของโรคว่าผู้ป่วยต้องอาศัยความช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ