Menu Close

แพทย์วินิจฉัย โรคอัลไซเมอร์ ได้อย่างไร

แพทย์วินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างไร?

แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส  วว. พยาธิวิทยากายวิภาค

การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ จะอาศัยจากอาการเป็นหลัก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้ตัวว่ามีปัญหาในด้านความจำและการใช้ชีวิตประจำวันแต่อาจมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตระหนักว่าตนเองกำลังมีความผิดปกติอยู่ (เรียกว่า Anosognosia) ซึ่งคนใกล้ชิดจะเป็นผู้สังเกตเห็นความผิดปกติแทนสิ่งที่สำคัญคือการวินิจฉัยว่าอาการความจำเสื่อม หลงลืมที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มแรกนั้นนี้มีสาเหตุมาจากอะไร เพราะอาการความจำเสื่อมพบได้ในโรคอื่น ๆ อีกหลายโรคบางโรคมีวิธีรักษาให้หายได้ สาเหตุอื่น ๆ ของโรคความจำเสื่อม ได้แก่ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอรโมน การขาดวิตามินบี 12 การมีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง มีเนื้องอกและมะเร็งสมอง โรคเนื้อสมองตายเหตุจากขาดเลือด (Multi infarct dementia) โรคซึมเศร้า ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางตัว (เช่น ยาทางจิตเวชบางชนิด) และเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ เช่น Fronotemporal dementia, Dementia with Lewy bodies, Creutzfeldt-Jakob disease เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อวินิจฉัยจากอาการได้แล้วว่าผู้ป่วยมีภาวะของความจำเสื่อมเกิดขึ้น ขั้นต่อไปแพทย์จะต้องตรวจหาสาเหตุของความจำเสื่อมนั้น โดยอาศัยการตรวจร่างกายการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการเอกซเรย์ ต่าง ๆ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของความจำเสื่อม และให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป เช่น การเจาะเลือดดูภาวะไทรอยด์ฮอร์โมน การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเพื่อดูว่ามีเนื้องงอกในสมอง มีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมองหรือไม่ เป็นต้น ถ้าการตรวจวินิจฉัยไม่พบสาเหตุอื่น ๆ ประกอบกับอาการและการทดสอบทางสมองและสภาพจิต เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคอัลไซเมอร์จึงจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ในกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัย อาจต้องอาศัยการตัดชิ้นเนื้อสมองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

สำหรับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์นั้น มีผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่มได้ตั้งกฎเกณฑ์ไว้ ได้แก่ National Institues of Neurological and Communicative Disorders and Stroke – Alzhemer’ disease and Related Disorders Association (NINCDS-ADRDA), Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Revision, Text Revision (DSM-IV-TR) ของกลุ่ม American Psychiatric Association เป็นต้น

โรคอัลไซเมอร์มีผลข้างเคียงจากโรคและมีความรุนแรงอย่างไร?

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยจะเสียชีวิต(ตาย)ภายใน 8-10 ปี นับตั้งแต่มีอาการ ผู้ป่วยบางคนอาจมีการดำเนินของโรคเร็วกว่านี้ และบางคนมีอาการดำเนินช้ากว่านี้ได้

ในระยะแรก ผู้ป่วยจะรู้สึกลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ในระยะหลัง ๆ ของโรค ภาระทางการเงินและความลำบากจะตกอยู่กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่จะต้องดูแลผู้ป่วยตลอดเวลา โดยที่ผู้ป่วยก็ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป เพราะความทรงจำต่าง ๆ ได้จางหายไปหมดแล้ว อีกทั้งนิสัยและพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้ใกล้ชิดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมา

ในทางสังคมก็เช่นกัน ต้องสูญเสียคนมีประสบการณ์ คนเก่ง คนที่มีประโยชน์ต่อบ้านเมือง อีกทั้งต้องสูญเสียรายได้ในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ด้วย

Posted in โรคอัลไซเมอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง