โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ (ตอนที่ 1)
โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” ที่สวนสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยรู้จักโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากสมองฝ่อที่พบในคนไทยร้อยละ 30 สธ. เห็นความจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขป้องกันหรือชะลอการป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคต ในขณะที่ทั่วโลกพบผู้สูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน และอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคนต่อปี
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสุขภาพได้ประมาณการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน โดยโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและพบในเขตชนบทมากกว่าในเมือง สาเหตุใหญ่ในประเทศไทย พบว่าประมาณร้อยละ 60 สัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดแข็ง ตีบ ตัน ทำเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนที่เหลือนั้นมักเป็นโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การทำงานของต่อมไธรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease หรือ AD) เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคนี้ได้รับการค้นพบครั้งแรกโดยนักจิตวิทยาและนักพยาธิสภาพระบบประสาทชาวเยอรมันชื่อว่า อัลลอยส์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) ในปี พ.ศ. 2449 และตั้งชื่อโรคตามชื่อของท่าน โรคนี้พบในคนที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป แม้ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการแตกต่างไปในแต่ละคน แต่จะมีอาการเหมือนกันหลายประการ อาการแรกเริ่มคือความเครียด ซึ่งมักเข้าใจผิดคิดว่าเกิดขึ้นเองตามอายุที่มากขึ้น อาการที่พบในระยะแรก ๆ ต่อมาคือจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ได้
การวินิจฉัยโรคนี้ก็โดยการประเมินพฤติกรรม ความสามารถในการคิด และการสแกน (Scan) สมอง ต่อมาผู้ป่วยก็จะมีอาการสับสน หงุดหงิด ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาด้านภาษา สูญเสียความทรงจำระยะยาว สูญเสียการทำงานของร่างกายและเสียชีวิตในที่สุด
หลังผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยมากมักมีอายุเฉลี่ยได้อีกประมาณ 7 ปี น้อยกว่าร้อยละ 3 ที่มีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 14 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ สาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนัก หลายงานวิจัยชี้ว่า โรคนี้น่าจะเกี่ยวกับคราบ (Plaque) และและกลุ่มใยประสาทบางชนิด (Tangle) ในสมอง ยังไม่มีการรักษาที่ช่วยหยุดหรือชะลอการดำเนินของโรคนี้ แต่แนวทางที่แนะนำคือ การกระตุ้นทางจิตใจ การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ อาจช่วยชะลออาการของโรคได้
เนื่องจากโรคนี้รักษาไม่หายขาด การดูแลผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งมักจะเป็นคู่สมรสหรือญาติสนิท และโรคนี้ก็สร้างภาระแก่ผู้ที่ดูแลอย่างมากทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย
แหล่งข้อมูล
คนไทยเสี่ยงสมองเสื่อมเร็วขึ้น แนะฝึกท่องจำ-คิดคำนวณบ่อบครั้ง – http://www.naewna.com/local/40659 [2013, February 13].
Alzheimer’s disease – http://www.naewna.com/local/40662 [2013, February 21].
Alzheimer’s disease-http://en.wikipedia.org/wiki/Alzheimer’s_disease [2013, February 21].