โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ (ตอนที่ 2)
ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม เภสัชกร
อาการของโรคอัลไซเมอร์ ได้ถูกแบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะก่อนสมองเสื่อม (Pre-dementia) – อาการแรกเริ่มมักเข้าใจผิด โรคนี้เกิดขึ้นเองจากความชรา หรือความเครียด การทดสอบทางจิตประสาทวิทยาต้องใช้เวลา 8 ปี กว่าผู้ป่วยจะมีเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยจะมีการสูญเสียความจำ จำข้อมูลที่เรียนรู้ไม่นานมานี้ไม่ได้อีกทั้งไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ ๆ ได้
สมองเสื่อมระยะแรก (Early) – ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องทางความจำและการเรียนรู้จนสามารถวินิจฉัยได้ ผู้ป่วยมีอาการบกพร่องทางภาษา การบริหาร การสูญเสียการระลึกได้ การทำอะไรที่ซับซ้อนไม่ได้ เห็นชัดกว่าการสูญเสียความทรงจำ แต่ก็ไมได้มีผลต่อความจำทั้งหมดเท่าๆ กัน ผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาทางภาษาคือใช้คำสั้นๆ และไม่คล่องเหมือนเดิม พูดและเขียนได้น้อยลง เริ่มมีปัญหาการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยสามารถทำงานได้หลายอย่าง แต่ก็ต้องอาศัยผู้ดูแลในงานที่ต้องใช้การคิดอย่างมาก
สมองเสื่อมระยะปานกลาง (Moderate) – ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง การพูดลำบากขึ้น ทักษะการอ่านและการเขียนเสียไปเรื่อย ๆ ความจำเริ่มแย่ลง ไม่สามารถจำญาติของตนเองได้ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง หงุดหงิด โมโหง่าย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ซึ่งสร้างความเครียดกับผู้ดูแลหรือญาติ จนต้องส่งไปสถานรับดูแลผู้ป่วยระยะยาว เพื่อลดความเครียด
สมองเสื่อมระยะสุดท้าย (Advanced) – ผู้ป่วยต้องอาศัยคนดูแลตลอดเวลา พูดได้แต่คำง่าย ๆ จนพูดไม่ได้เลย แต่สามารถเข้าใจคำพูด และตอบสนองได้ ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมได้เลยถ้าขาดผู้ดูแลกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวลดลงจนผู้ป่วยต้องนอนนิ่งเฉย ๆ ไม่สามารถทานข้าวได้ด้วยตนเองและเสียชีวิตจากปัจจัยภายนอกเช่น แผลกดทับ หรือ ปอดบวม ซึ่งไม่ใช่โรคจริง ๆ ของมัน
สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ – มีการตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสาเหตุการเกิดโรคอัลไซเมอร์ไว้ถึง 3 ข้อ
สมมุติฐานโคลิเนอจิก (Cholinergic) เป็นสมมติฐานที่เก่าที่สุด โดยเชื่อว่า โรคนี้เกิดจากการลดการสังเคราะห์สารสื่อในระบบ ประสาทที่ชื่อ อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine hypothesis) ปัจจุบันไม่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากเมื่อให้ยารักษาการขาดอะเซทิลโคลีนโดยตรง กลับไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
สมมุติฐานอะมีลอยด์ (Amyloid) ตั้งเมื่อปี 2534 โดยเชื่อว่าการสะสม อะมีลอยด์ เบต้า เป็น สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ ที่น่าสนใจคือ จีน/ยีน (Gene) ของสารตั้งต้น อะมีลอยด์ เบต้า (Aamyloid Precursor Protein: APP) อยู่บน จีน/ยีนโครโมโซมคู่ที่ 21 เหมือนคนกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) ซึ่งแสดงอาการของโรคอัลไซเมอร์เมื่ออายุประมาณ 40 ปี
สมมุติฐานโปรตีนเทา (Tau protein) โดยเชื่อว่า ความผิดปกติของโปรตีนเทาเป็นตัวเริ่มต้นให้เกิดความผิดปกติ ซึ่งโปรตีนเทาที่ถูกเติมหมู่ฟอสเฟต (Phosphate) มากเกินไป จะจับคู่กับโปรตีนเทาปกติ เกิดเป็นความพัวพัวในใยประสาท (Neurofibrillary tangles) ที่สะสมในเซลล์ประสาท แล้วทำลายระบบการขนส่งสารสื่อประสาทในเซลล์ประสาท ยังผลให้เซลล์ประสาทผิดปกติ และเซลล์ตายในที่สุด
แหล่งข้อมูล
Alzheimer’s disease – http://www.naewna.com/local/40662 [2013, February 22].
Alzheimer’s disease-http://en.wikipedia.org/wiki/Alzheimer’s_disease [2013, February 22].