โรคอัลไซเมอร์มีอาการอย่างไร?
แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส วว. พยาธิวิทยากายวิภาค
อาการของโรคนี้จะค่อยเป็นค่อยไป และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด โดยคร่าวๆ จะแบ่งอาการเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้
- ระยะก่อนสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้เล็กน้อย (Mild cognitive impairment) มีปัญหาในการจดจำข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้มาไม่นานหรือไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ ๆ ได้ แต่โดยทั่วไปยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติยังตัดสินใจทำในสิ่งต่าง ๆ ได้ ยกเว้นเรื่องที่สลับซับซ้อน และหากนำผู้ป่วยไปทำการทดสอบทางสมองและสภาพจิตก็จะยังไม่พบสิ่งผิดปกติผู้ป่วยในระยะนี้ก็จะไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ แต่ในทางการศึกษา เมื่อตรวจสมองของผู้ป่วยเหล่านี้จะพบความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว เช่นสมองส่วน Entorhinal cortex มีการฝ่อลีบ พบ Amyloid plaques, Neurofibrillary tangles เป็นต้น และสันนิษฐานว่าการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองเหล่านี้ น่าจะปรากฏมา 10-20 ปี ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการต่าง ๆ ในระยะต่าง ๆ ของโรคนี้ตามมา
- สมองเสื่อมระยะแรก ผู้ป่วยจะมีการสูญเสียความจำในระยะสั้นความจำใหม่ หรือความจำที่เพิ่งเรียนรู้มา เช่น ลืมว่าเก็บกุญแจไว้ที่ไหน ลืมนัด กินยารักษาโรคประจำตัวซ้ำ ถามซ้ำ พูดซ้ำ ส่วนความทรงจำในระยะยาวที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวของผู้ป่วย เช่น เกิดที่จังหวัดไหน เรียนจบอะไรมา รวมทั้งความจำที่เป็นความรู้ทั่วไป เช่น ไฟแดงหมายถึงให้หยุดรถและความจำที่เป็นความจำโดยปริยาย คือ ความจำของร่างกายว่าทำสิ่งต่าง ๆ อย่างไร เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหาร ยังพอจำได้เป็นปกติ
การใช้ชีวิตของผู้ป่วยในระยะนี้ จะเริ่มไม่เป็นปกติ เช่น กำลังขับรถจะไปทำธุระบางอย่าง เกิดจำไม่ได้ว่าสถานที่นั้นต้องขับรถไปทางไหนและก็อาจจะขับรถกลับบ้านไม่ถูก มีปัญหาในเรื่องการใช้จ่ายเงิน เพราะจำไม่ได้ว่าจ่ายเงินไปแล้วหรือยังอาจจะโดนหลอกได้ ความคิดในการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ จะลดลง การตัดสินใจจะช้าลง คิดนานขึ้น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ การใช้คำศัพท์ไม่คล่องเหมือนเดิมทำให้พูดหรือเขียนหนังสือและใช้ภาษาได้น้อยลง แต่ยังสามารถสื่อสารบอกความคิดพื้นฐานของตนได้ ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม ทำให้ผู้ป่วยดูเงอะงะ นอกจากนี้อารมณ์จะเริ่มเปลี่ยนไป มีความวิตกกังวลมากขึ้น
- สมองเสื่อมระยะปานกลาง นอกจากสูญเสียความทรงจำในระยะสั้นแล้วความจำในระยะยาว และความรู้ทั่วไปก็จะค่อย ๆ บกพร่องไป ผู้ป่วยจะจำชื่อและหน้าตาของเพื่อน ๆ ไม่ได้ และก็อาจจะจำคนในครอบครัวไม่ได้ หรือแม้กระทั่งคู่ชีวิตของตนเองก็จำไม่ได้ว่าเป็นใคร ดังนั้นแม้ผู้ป่วยจะอยู่ในบ้านของตัวเองก็จะรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่แปลก อยู่กับคนแปลกหน้าไม่คุ้นเคยตลอดเวลา การพูดและการใช้ภาษาจะบกพร่องชัดเจน เช่น จะไม่สามารถนึกคำเรียกชื่อสิ่งของที่มองเห็นอยู่ตรงหน้าได้ (เรียกว่า Agnosia) หรือใช้ศัพท์คำอื่นมาเรียกแทน (เรียกว่า Paraphasia) มีปัญหาในการสื่อสารบอกความคิดของตนเอง ทักษะการอ่านและการเขียนค่อย ๆ เสียไปเรื่อย ๆ การทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ก็จะเริ่มมีปัญหา เช่น การแต่งตัว ไม่รู้ว่าชุดไหนควรเอาไว้ใส่เวลาใด หรือแม้กระทั่งจะใส่เสื้อตัวนี้ต้องทำอย่างไร เป็นต้น
ผู้ป่วยจะมีอารมณ์สับสน วิตกกังวล กระวนกระวาย หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน เช่น ร้องไห้ หรือก้าวร้าวอย่างไม่มีเหตุผล มีอาการหลงผิด เห็นภาพหลอนโดยเฉพาะในเวลาโพล้เพล้ มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เดินหนีออกจากบ้านโดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นหรือตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะเดินไปอย่างไร้จุดหมาย และก็จะกลับบ้านไม่ถูก การควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็เสียไป เช่น เมื่ออากาศร้อนก็ถอดเสื้อผ้าถอดเสื้อชั้นในออกหมดแม้จะอยู่ในที่สาธารณะ โดยไม่เข้าใจหรือลืมไปแล้วว่าการกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะสม
- สมองเสื่อมระยะสุดท้าย ความทรงจำในระยะสั้น ความทรงจำในระยะยาว ความรู้ทั่วไปและกระทั่งความจำที่เป็นความจำโดยปริยายก็จะสูญเสียไป การใช้ภาษาของผู้ป่วยจะลดลงอย่างมาก อาจพูดเพียงแค่วลี ง่าย ๆ หรือคำเดี่ยว ๆ จนกระทั่งไม่สามารถพูดได้เลย ในระยะนี้ลักษณะพฤติกรรมก้าวร้าวจะลดลงภาวะไร้อารมณ์เด่นกว่า ผู้ป่วยต้องอาศัยพึ่งพาผู้ดูแลตลอดเวลา การทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ จะค่อย ๆ ลดลงบางคนอาจมีท่าทางการเดินแบบซอยเท้าสั้น ๆ มีอาการตัวแข็งคล้ายกับคนเป็นโรคพาร์กินสันได้ในที่สุดผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจกรรมใด ๆ ได้เลย ทั้งการอาบน้ำ กินข้าว แต่งตัว แม้กระทั่งการเดินหรือการนั่ง ถ้าไม่มีผู้ดูแลผู้ป่วยก็จะได้แต่นอนนิ่ง ๆ อยู่บนเตียงตลอดเวลา และไม่สามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้บางคนอาจมีอาการชัก กลืนลำบาก สุดท้ายผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ต่าง ๆ เช่นเกิดแผลกดทับและติดเชื้อตามมา เกิดปอดบวมติดเชื้อร่างกายขาดสารน้ำระบบเกลือแร่ขาดสมดุล เป็นต้น โดยไม่ได้เสียชีวิต (ตาย) จากตัวโรคโดยตรง