อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส วว. พยาธิวิทยากายวิภาค
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นหนึ่งในโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้ถูกบรรยายไว้ครั้งแรกโดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ Alois Alzheimer ในปี พ.ศ. 2499 ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการสำคัญ คือ ความจำเสื่อม หลงลืม มีพฤติกรรมและนิสัยเปลี่ยนไป อาการจะดำเนินไปอย่างช้า ๆ แต่ค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และเสียชีวิตในที่สุดไม่มีวิธีป้องกันหรือวิธีสำหรับรักษาให้หายได้
โรคอัลไซเมอร์จะพบในผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบอัตราการเป็นโรคมากขึ้น โดยในช่วงอายุ 65-69 ปี พบอุบัติการณ์การเกิดผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 3 คนต่อพันคนต่อปี แต่หากเป็นช่วงอายุ 85-89 ปี จะพบสูงถึง 40 คนต่อพันคนต่อปี พบได้ในทุกเชื้อชาติเพศหญิงพบมากกว่าเพศชายเล็กน้อย อาจเนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนยาวกว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-4 % ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และจะพบเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 5 ปี หลังอายุ 60 ปี
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์?
ผู้ป่วยประมาณ 7% มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และสามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ ตำแหน่งความผิดปกติบนโครโมโซมที่พบชัดเจนแล้วว่าทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 21, 14, 1, และ 19 ผู้ที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมเหล่านี้จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่อายุน้อยกว่าคนที่ไม่ได้มีความผิดปกติทางพันธุกรรม นอกจากนี้พบว่าในผู้ป่วยโรคกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) ซึ่งมีความผิดปกติคือมีสารพันธุกรรมของโครโมโซมแท่งที่ 21 เกินมา หากมีชีวิตอยู่เกิน 40 ปี จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เหลือไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนแต่พบปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ดังนี้ คือ อายุที่มากขึ้นมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้เคยประสบอุบัติเหตุที่สมองหรือสมองได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคอ้วน เป็นโรคเบาหวาน (เพิ่มความเสี่ยงขึ้นประมาณ 3 เท่า) เป็นโรคความดันโลหิตสูง และเป็นโรคไขมันในเลือดสูงแต่ระดับการศึกษาและระดับสติปัญญาไม่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่าสารเคมีในธรรมชาติบางตัว เช่น อะลูมิเนียม ปรอท รวมทั้งไวรัสบางชนิดอาจเป็นสาเหตุของโรคนี้แต่หลักฐานก็ยังไม่ชัดเจน
ส่วนปัจจัยที่ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ลงได้ ได้แก่ การใช้ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอนเสดส์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในหญิงวัยหมดประจำเดือน การกินผักและผลไม้เป็นประจำ การดื่มไวน์แดงในปริมาณที่เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การใช้สมองฝึกคิด ฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเป็นประจำ
อนึ่ง ยาทั้งสองชนิดที่กล่าวถึง ไม่ควรซื้อกินเองเพราะมีผลข้างเคียงสูง เช่น เอนเสดส์อาจก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (โรคแผลเปบติค) และเอสโตรเจน เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม และภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ พยาธิสภาพสมองผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร?
เมื่อนำสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มาตรวจดู จะพบลักษณะดังนี้
- พบกลุ่มแผ่น (Plaque) ที่เกิดจากการรวมตัวของโปรตีนที่ผิดปกติและถูกล้อมรอบด้วยเซลล์ประสาทที่เสื่อม (Dystrophic neuritis) เรียกกลุ่มแผ่นนี้ว่า Amyloid plaques หรือ Neuritic plaques ซึ่งต้องตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยจะพบกลุ่มแผ่นเหล่านี้อยู่ในเนื้อของสมองแต่อยู่นอกเซลล์ประสาท โปรตีนที่ประกอบกันเป็นกลุ่มแผ่นนี้มีโปรตีนที่ชื่อ Beta-amyloid protein เป็นองค์ประกอบหลัก
ในช่วงระยะแรกของการเป็นโรค บริเวณของสมองที่จะพบ Amyloid plaques คือส่วนของกลีบสมองใหญ่ส่วนลึกที่เรียกว่า Hippocampus และ Entorhinal cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ
ในช่วงระยะหลังของโรค จะพบที่สมองใหญ่บริเวณที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดและเหตุผล
ส่วนสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวร่างกาย การรับรู้ความรู้สึก จะไม่ค่อยพบ Amyloid plaques
ในสมองคนสูงอายุทั่วไป สามารถพบ Amyloid plaques ได้ แต่จะมีปริมาณไม่มากเท่ากับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ - พบเส้นใยฝอย (Fibril) ของโปรตีนที่มาพันรวมตัวกันผิดปกติ เรียกว่าNeurofibrillary tangles (NFT) ซึ่งต้องตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยจะพบอยู่ในเซล์ประสาทส่วนที่ไม่ใช่นิวเคลียส์ โปรตีนที่เกิดความผิดปกตินี้ชื่อว่า Tau protein ตำแหน่งที่พบจะเหมือนกับ Amyloid plaques ซึ่งเซลล์ประสาทที่มี NFT นั้นในที่สุดก็จะตายไป แต่การพบ NFT นี้ไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของโรคอัลไซเมอร์ เพราะสามารถพบได้ในโรคสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ ด้วย
- การตรวจดูสมองด้วยตาเปล่า จะพบการฝ่อลีบของสมอง โดยเฉพาะบริเวณกลีบต่าง ๆ ของสมอง
บรรณานุกรม
Alzheimer’s disease, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 17th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2008 (electronic book)
http://en.wikipedia.org/wiki/Alzheimer’s_disease [2018,Oct13]
http://emedicine.medscape.com/article/1134817-overview#showall [2018,Oct13]